วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

ในห้วงวันรณรงค์ ..ขอให้ทุกคนปลอดภัย

ประเทศชาติกำลังเดินมายังจุดที่เปลี่ยนผ่าน (transition) อีกครั้งหนึ่ง ในห้วงตั้งแต่ 12 มี.ค.นี้เป็นต้นไป


ไม่ขอทำนายว่าใครจะชนะแพ้ ใครจะได้รับผลกระทบทั้งชีวิต ทรัพย์สินและจิตใจอะไรบ้าง แต่ขอเอาใจช่วย "คนธรรมดา" ของทั้งสองฝ่าย


เอาใจช่วย ไม่ได้หมายถึงเชียร์ทั้งฝ่ายแดงฝ่ายอำมาตย์ให้ตีกันเข้าไป หรือ "ชนะไหนฉันเฮด้วย"
แต่หมายถึงขอให้คนที่ออกไปในสนาม ปลอดภัย

ไม่ต้องไปภาวนาให้แกนนำเสื้อแดง เสื้อเหลือง ทหาร อำมาตย์ หรือรัฐบาล เพราะพวกเขาต้องรับความเสี่ยงอยู่แล้ว พวกเขาขับเคลื่อนสังคมมาจนถึงจุดนี้ได้ ก็ต้องรับสถานการณ์ที่จะเกิดกับตนเองได้ ขอให้คนที่คิดจะทำเพื่อชาติ ประชาชน ประชาธิปไตยและความยุติธรรม ที่เเท้จริงเป็นผู้ชนะก็แล้วกัน


แต่สำหรับคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงที่ตากแดดออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือทหารตำรวจชั้นผู้น้อยที่ออกมาทำงานเพื่อหน้าที่ หรือแม้แต่ประชาชนธรรมดาที่ไม่ใช่สองพวกนี้แต่ได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่ว่าอย่างใด


ขอให้พวกเขาปลอดภัยกันทุกคน ไม่ต้องเสียชีวิต เสียทรัพย์ กลับบ้านได้ ปลอดภัยกันทุกคนครับ

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

วีรกรรมเกาะช้าง

พึ่งกลับมาจากการไปถวายพวงมาลาสดุดีวีรกรรมเกาะช้างมาครับ

โดยเดินทางโดย ร.ล.คลองใหญ่ ไปถึงจุดบริเวณระหว่างเกาะสลักกับเกาะลิ่ม ที่ซึ่งต้นเรือพยายามลาก ร.ล.ธนบุรีเข้ามาเกยตื้น หลังรบจนสุดใจจนตายเกือบทั้งลำเมื่อเช้า 17 มากราคม 2484

ผมถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มีโอกาสมาสักการะสถานที่วีรชนไทยต่อสู่ยันไม่ให้อริราชศัตรูรุกเข้ามาได้

วันนี้เลยนำบทความที่ตีพิมพ์ในคมชัดลึกปี 53 นี้เองมาลงไว้เสียหน่อยว่า สงครามยุทธนาวีในวันนั้นสำคัญอย่างไรต่อชาติของเรา

--------------------
วันนี้เป็นวันครบรอบ 69 ปีของหนึ่งในยุทธภูมิที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของชาติเรา แม้ว่าวันนั้นฝ่ายเราไม่ได้กลับขึ้นฝั่งในฐานะผู้ชนะ แต่กลับมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งไม่น้อยกว่าวันอื่นที่เราไล่เข่นฆ่าศัตรูพ้นจากการรุกรานประเทศ ทุกวันนี้ไม่มีใครลืมยุทธนาวีที่เกาะช้างที่กองเรือที่ด้อยกว่าของเราต้องจมให้กับกระสุนของฝรั่งเศสถึง 3 ลำ พร้อมผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก แต่การสู้รบเพียงไม่ถึง 3 ชั่วโมงนี้เองทำให้ฝรั่งเศสเสียแผนทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ และไทยสามารถผนึกครองอินโดจีนเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์อีกด้วย


บทบาทกองทัพเรือในสงครามโลกครั้งที่ 2 ค่อนข้างน้อย เรื่องที่พอจดจำได้คือการเสี่ยงตายในทางสนับสนุนการรบ เช่น รล.มัจฉานุและ รล.วรุณ ซึ่งเป็นเรือดำน้ำช่วยปั่นไฟแทนโรงไฟฟ้าวัดเลียบที่โดนทิ้งระเบิด และที่ได้ตายจริง ๆ คือ รล.สมุย ถูกจมขณะไปลำเลียงน้ำมันสิงคโปร์มาให้ประเทศที่กำลังขาดแคลนเชื้อเพลิง ทำให้ทหารเรือต้องพลีชีพถึง 31 นาย เหตุที่บทบาทค่อนข้างน้อยเพราะ ยกเว้นกับกองเรือฝรั่งเศสแล้ว ทหารเรือไม่ได้รบกับทั้งญี่ปุ่นในอเมริกาอย่างจังหน้าไม่ว่าจะเป็นน่านน้ำฝั่งไหน แม้แต่การยกพลขึ้นบก 7 จุดของญี่ปุ่นเมื่อเช้ามืดของวันที่ 8 ธ.ค.2484 ทหารญี่ปุ่นก็ไม่ได้เข้าเขตของทหารเรือ เลยไม่ปรากฎวีรกรรมที่น่ายกย่องเหมือนทหารและพลเรือนในจุดอื่นที่เมื่อถึงเวลาคับขันแล้ว เลือดไทยย่อมพร้อมสละได้เพื่อสิ่งที่หวงแหนมากกว่าครอบครัวและชีวิตตนเอง นั่นคืออธิปไตยของชาติ


วันที่ 17 มกราคม 2484 ทหารเรือไทยได้กระทำชาติพลีอย่างสมค่าควรศักดิ์ศรี ในเวลานั้นไทยได้รบฝรั่งเศสมาระยะนึงแล้วเพื่อทวงดินแดนฝั่งลาวและเขมรคืนมา กำลังทางอากาศและทางบกของเรารุกไล่ฝรั่งเศสที่การส่งกำลังบำรุงไม่สมบูรณ์ เพราะประเทศแม่ตกเป็นเมืองขึ้นเยอรมันไปตั้งแต่เมื่อครึ่งปีก่อน แต่สำหรับกำลังทางเรือนั้น ฝรั่งเศสยังมีสมบูรณ์กว่าไทยมากและหวังจะล่องเข้ามาโจมตีจุดยุทธศาสตร์ถึงกรุงเทพเพื่อเปลี่ยนชะตากรรมของสงครามจากการเป็นรองไทยมาเป็นชัยชนะ แต่ รล.ธนบุรี รล.สงขลา และรล.ชลบุรี ได้เข้าต่อตีสกัดกั้นไว้ทางด้านใต้ของเกาะช้าง ด้วยกำลังที่ต่างกันมากทำให้ฝ่ายเราสูญเสียเรือทั้งหมดที่ทำการรบ หากจะว่าพ่ายแพ้ก็ไม่ใช่ เพราะเรือของฝรั่งเศสเป็นฝ่ายผละถอยไปจมไปซ่อมนอกสมรภูมิเสียหลายลำ และไม่สามารถจัดกำลังรุกเข้าน่านน้ำไทยได้อีกเลย จนสิ้นสงครามอินโดจีน พ.ค.ปีนั้นซึ่งฝรั่งเศสต้องยอมยกดินแดนให้เราหลายพื้นที่


ในห้วงเวลาที่คนของกองทัพบางส่วนแตกแยกกันเป็นฝักฝ่าย ความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือนกับทหารมีความกังขา หวังว่าทุกคนจะหวนระลึกได้ว่าเมื่อถึงวันที่วิกฤตอย่างยิ่ง เช่นวันที่กล่าวมาแล้วเมื่อกว่าค่อนศตวรรษนั้น บรรพบุรุษผู้สวมเครื่องแบบของเราเคยสละชีพเพื่อคนส่วนใหญ่ชองชาติอย่างไร และบรรพบุรุษผู้อยู่แนวหลังของเราเคยตื้นตันใจ เชียร์ทหารของชาติให้สู้เพื่อความเป็นไทอย่างไร