วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

FIFA World Cup กับการเมืองโลก

ไม่มีมหกรรมอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะดึงดูดความสนใจของทั้งโลกให้หยุดเพื่อเฝ้าติดตามกิจกรรมนั้นได้เท่ากับการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 1 เดือนของทุก ๆ 4 ปี การชุมนุมระหว่างประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น โอลิมปิก เอ็กซ์โป โนเบล หรือการประชุมระดับสุดยอดผู้นำโลกทั้งหลายก็ไม่เคยเรียกความสนใจในระดับที่เท่ากับรายการนี้ที่เวียนมาถึงอีกแล้วระหว่าง 11 มิ.ย.-11 ก.ค.53 ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้งการเมืองโลกก็ได้อาศัยความสนใจของประชาชนที่มีต่อการเตะลูกหนังไปในทางเอื้อประโยชน์แก่ชาติต่าง ๆ เช่นการโฆษณาชวนเชื่อ การจัดการปัญหาความสัมพันธ์กับชาติศัตรู หรือการยกระดับสถานการณ์ภายในประเทศ


ในอดีตมีตัวอย่างแสดงความจงใจของผู้นำชาติเผด็จการหลายชาติที่ใช้เวทีเวิลด์คัพสร้างความชอบธรรมให้ระบอบของตน ที่เด่นชัดที่สุดคือระบอบเผด็จการทหารของเบนิโต มุสโสลินี ที่ทำให้อิตาลีครองแชมป์บอลโลกยุคเเรก ๆ ถึง 2 สมัยซ้อนปี 1934 และ 38 ปลุกกระเเสรักชาติรักฟาสซิสท์เต็มที่

ยุครัฐบาลทหารของอาร์เจนติน่าช่วงทศวรรษ 70 ก็เช่นกัน โดยเฉพาะนายพลฮอร์เก้ วิเดล่าประธานาธิบดีที่ผลักดันให้ประเทศเป็นเจ้าภาพบอลโลกปี 1978 และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทีมฟ้า-ขาวชนะเลิศในปีนั้น นับเป็นการสร้างศรัทธามหาศาลแก่มวลชนฝ่ายขวาให้หนุนหลังระบอบนี้ให้อยู่ยาวนาน


ในยุคใหม่ ชาติใดได้จัดเวิลด์คัพรอบสุดท้ายนับเป็นการยกระดับตนเองในเวทีระหว่างประเทศอีกขั้น แอฟริกาใต้และบราซิลในปี 2010 และ 2014 จะแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานนั้น ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เคยแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันกันในทีจากการเป็นเจ้าภาพร่วมในปี 2002 ความเหนือกว่าในเชิงบอลของโสมขาวตอกย้ำการแก้ปมในใจของคนเกาหลีให้ตระหนักใหม่ว่ายุคนี้เกาหลีล้ำหน้าญี่ปุ่นไปเกือบทุกเรื่องแล้ว


การแข่งขันระหว่างทีมชาติที่มีฉากหลังเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองยิ่งดึงดูดการจับจ้องจากประชาชนทั้งโลก คู่ที่ดัง ๆในอดีต มีอาทิ เช่น การเตะรอบแรกบอลโลกปี 1974 ซึ่งเยอรมันตะวันออกและตะวันตกมาเจอกันโดยฝ่ายหลังเป็นเจ้าภาพแต่ดันแพ้ 0-1 เสียนี่ ชัยชนะของโลกคอมมิวนิสต์ต่อทุนนิยมในครั้งนั้นถูกนำไปโฆษณาถึงความเหนือกว่าของระบอบแดงอยู่นาน

การดวลแข้งรอบ 8 ทีมสุดท้ายระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนติน่าเมื่อปี 1986 ก็สำคัญ เพราะเป็นการล้างตาสงครามฟอล์กแลนด์ที่อังกฤษพิชิตอาร์เจนติน่าอย่างยับเยินเมื่อ 4 ปีก่อน ผลบอลออกมาในเชิงตอกย้ำความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามเมื่ออาร์เจนติน่าชัยชนะด้วย”หัตถ์พระเจ้า”ของดีเอโก้ มาราโดน่า

ปีนี้เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้เข้าสู่รอบสุดท้ายพร้อมกันเป็นครั้งแรก แต่โอกาสพบกันกลางสนามแทบไม่มี เว้นแต่จะถึงรอบรองชนะเลิศกันทั้งคู่ (ซึ่งก็ร่วงไปหมดแล้วตามคาด)

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อนาคตของกองทัพอยู่ที่อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ

การที่กองทัพไทยซึ่งเป็นกองทัพอันดับ 2 ของเอเชียเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน ค่อย ๆ ลดทอนลงมาจนต้องถูกกองทัพท้ายแถวอย่างกัมพูชาท้าทายทุกวันนี้ ได้กล่าวไปแล้วในบทก่อนว่าเกิดจากความชะงักงันของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ในด้านอาวุธชั้นสูงนั้นเราเลิกซื้อลิขสิทธิ์เครื่องบินมาสร้างเอง ทั้งที่เครื่องบินแบบคอร์แซร์และฮ็อกพับ เวอร์ชั่นไทยทำนั้นฉกาจขนาดไล่โจมตีฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนโงหัวไม่ขึ้นมาแล้ว

ในรอบ 60 ปีมานี้ เราหันไปจัดหาแบบซื้อจากชาติตะวันตกเป็นหลัก โดยไม่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีกันเสียด้วย ทำให้กองทัพไทยไม่สามารถทะลุกรอบปัญญาประดิษฐ์ สร้างอาวุธเทคโนโลยีสูงเองแบบอินเดียหรือจีนไม่ได้ ขณะที่อาวุธชั้นรองเช่นปืนเล็ก กระสุน ระเบิด เราก็ทำได้ในระดับหนึ่ง วิจัยมาก็ยังต้องรอตรวจนั่น ประเมินนี่ ไป ๆ มา ๆ ก็อยู่ในหิ้งหนังสือเป็นส่วนใหญ่ ซื้อต่างชาติเอาง่ายกว่า


นอกเหนือจากการติดกับต่างชาติ ที่ต้องซื้อของจากฝรั่งและจีนกันไม่หยุดหย่อนแล้ว กระบวนการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยยังมีปัญหา เช่น ในทางกฏหมาย พ.ร.บ.ด้านนี้ยังไม่ออกมา จึงยังไม่รู้ทิศทางอย่างเป็นทางการว่าเราจะดำเนินไปอย่างไร

จริง ๆ แล้วผู้ใหญ่ก็พึ่งกำหนดนโยบายด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไปเมื่อ ธ.ค.52 นี้เอง กว่าจะกลไกทุกอย่างจะเดินเครื่องและเห็นผลสำเร็จก็คงต้องใช้เวลาอีกนาน แล้วจะทันกับชาติเพื่อนบ้านที่เร่งเครื่องอุตสาหกรรมชนิดนี้ไปนานแล้วหรือไม่


ขณะที่ไทยยังไม่ชัดเจนว่าเอกชนจะเข้ามาร่วมมือพัฒนาการสร้างยุทโธปกรณ์และยุทธปัจจัยได้ขนาดไหน กองทัพเรือยังพิจารณาดินขับจรวดที่สร้างเองว่าจะเวิร์คหรือไม่ และปืนใหญ่ต้นแบบที่กองทัพจัดสร้างยังไม่ขึ้นประจำการ ชาติอย่างเวียดนามและมาเลเซีย ก็พากันพัฒนายุทโธปกรณ์ของตนไปลิ่ว ไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์ ถึงวันนี้แม้ว่าพวกเขาจะยังคงต้องซื้อหาอาวุธต่างชาติอยู่ แต่ก็ไปได้ไกล ที่เวียดนามนั้นมีการจัดตั้งวิสาหกิจของทุกกองพล กรมการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอดีตชาติที่พึ่งพาแต่อาวุธโซเวียต บัดนี้ร่วมลงทุนกับเอกชนทั้งในและนอกประเทศ ในด้านสื่อสาร ต่อเรือ การบินและสื่อสาร ไม่เว้นแม้แต่ด้านที่มิใช่การรบเช่นรองเท้า


ความจริงโครงสร้างของอุตสาหกรรมและพลังงานของกองทัพไทยนั้นไม่เลวเลย ในทางทฤษฎีเรายังกุม สป.ของเราเองไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกรรม พลังงาน กระสุน อาวุธ ปิโตรเลียมหรือสื่อสาร กองทัพมีหน่วยงานวิจัยและผลิตไม่น้อย ขอให้กองทัพกำหนดนโยบายให้ชัดเจน ทุ่มเทงบประมาณด้านวิจัยลงมา ส่งเสริมบุคลากรอันทรงคุณค่า ผลักดันงานวิจัยให้กลายเป็นจริง นำผลผลิตแบบไทยทำประจำการบรรจุแทนการจัดหาจากต่างชาติ ร่วมทุนเอกชนแบบเดินหน้าเปิดหลากหลายพรมแดนข่ายงาน หาทางให้ได้ลิขสิทธิ์และเทคโนโลยีชั้นนำมาผลิตเอง ถ้าทำเช่นนี้ได้ อนาคตก็พอมองเห็นครับ


คมชัดลึก 3 กุมภาพันธ์ ปีนี้

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พึ่งกลับมาจากดูงานญี่ปุ่น-เกาหลี-จีน

ป่วยเลยครับ หวัดปักกิ่งแรงจริง ๆ กลับมาได้สัปดาห์นึงแล้ว พึ่งหายนี่แหละครับ

ได้มีโอกาสร่วมคณะไปดูงาน 3 ประเทศ 11 วัน ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น เช่น

ญี่ปุ่น --- เที่ยวสวนสนุกยูนิเวอร์แซล ( อันนี้เป็นสนองความสนุกของตนเอง )
---- ชมพิพิธภัณฑ์ปราสาทโอซาก้า (เข้าใจญี่ปุ่นยุคโทโยโทมิ-โตกุกาวามากขึ้น)
---- ชมศูนย์แผ่นดินไหวโกเบ .. ได้รับรู้การจัดการภัยพิบัติขนาดใหญ่ (นำมาเขียนลงกรุงเทพธุรกิจด้วย)
---- อะควาเรียมโอซากา (ได้ชมแหล่งสดงสัตว์ทะเลที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย)
....... กงสุลไทยประจำโอซาก้า (ได้รับทราบโอกาสใหม่ ๆ ของไทยในญี่ปุ่น)
....... วัดคินคาคุจิ วัดคิโยมิตสึ ศาสลเจ้าฟูชิมิอินาริ (สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมเก่าแก่ของเกียวโต )

โซล --- โซลทาวเวอร์ (หอคอยสูงชมวิว ที่น่าสนใจคือพิพิธภัณฑ์เท็ดดี้แบร์ นำเอาประวัติศาสตร์ชาติเกาหลีมาถ่ายทอดในรูปแบบหมีอย่างน่าทึ่ง)
---- ปันมุมจอม เส้นขนานที่ 38 (ชมบรรยากาศจริงความตึงเครียดสองเกาหลี เข้าชมอุโมงค์ลับเกาหลีเหนือ นำมาเขียนลงคมชัดลึกแล้ว)
---- พิพิธภัณ์ฑ์สงครามแห่งชาติเกาหลี ( วางพวงมาลาทหารไทยไปรบเกาหลี ชมการแสดงครบรอบหยุดยิงสงครามเกาหลี 50 ปี)
-- พระราชวังเคียงบ๊กกุงและพิพิธภัณฑ์ (หาความรู้ประวัติศาสตร์โบราณเกาหลี)
--- อาคารซัมซุง (นวัตกรรมใหม่โลกอนาคต)


ปักกิ่ง ... สถานทูตไทยประจำปักกิ่ง (ได้รับความรู้ชั้นเลิศจากท่านอัครราชทูต)
.... พระราชวังต้องห้าม+จตุรัสเทียนอันเหมิน (ความยิ่งใหญ่ของเมืองจีน)
...กำแพงเมืองจีนด่านจูหย่งกวน (ด่านใหม่ คนไม่พลุกพล่าน)
... วัดลามะหย่งเหอกง (ได้ไหว้พระ ขณะมีพิธีกรรมพอดี)
...พิพิธภัณฑ์ปักกิ่ง (โบราณวัตถุจีน 5000 ปีอยู่ที่นี่)


ผมจะพยายามถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับ มาปรับใช้กับงานต่อไปครับ