วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

FIFA World Cup กับการเมืองโลก

ไม่มีมหกรรมอะไรสักอย่างหนึ่งที่จะดึงดูดความสนใจของทั้งโลกให้หยุดเพื่อเฝ้าติดตามกิจกรรมนั้นได้เท่ากับการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่จะจัดขึ้นเป็นเวลา 1 เดือนของทุก ๆ 4 ปี การชุมนุมระหว่างประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น โอลิมปิก เอ็กซ์โป โนเบล หรือการประชุมระดับสุดยอดผู้นำโลกทั้งหลายก็ไม่เคยเรียกความสนใจในระดับที่เท่ากับรายการนี้ที่เวียนมาถึงอีกแล้วระหว่าง 11 มิ.ย.-11 ก.ค.53 ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้งการเมืองโลกก็ได้อาศัยความสนใจของประชาชนที่มีต่อการเตะลูกหนังไปในทางเอื้อประโยชน์แก่ชาติต่าง ๆ เช่นการโฆษณาชวนเชื่อ การจัดการปัญหาความสัมพันธ์กับชาติศัตรู หรือการยกระดับสถานการณ์ภายในประเทศ


ในอดีตมีตัวอย่างแสดงความจงใจของผู้นำชาติเผด็จการหลายชาติที่ใช้เวทีเวิลด์คัพสร้างความชอบธรรมให้ระบอบของตน ที่เด่นชัดที่สุดคือระบอบเผด็จการทหารของเบนิโต มุสโสลินี ที่ทำให้อิตาลีครองแชมป์บอลโลกยุคเเรก ๆ ถึง 2 สมัยซ้อนปี 1934 และ 38 ปลุกกระเเสรักชาติรักฟาสซิสท์เต็มที่

ยุครัฐบาลทหารของอาร์เจนติน่าช่วงทศวรรษ 70 ก็เช่นกัน โดยเฉพาะนายพลฮอร์เก้ วิเดล่าประธานาธิบดีที่ผลักดันให้ประเทศเป็นเจ้าภาพบอลโลกปี 1978 และทำทุกวิถีทางเพื่อให้ทีมฟ้า-ขาวชนะเลิศในปีนั้น นับเป็นการสร้างศรัทธามหาศาลแก่มวลชนฝ่ายขวาให้หนุนหลังระบอบนี้ให้อยู่ยาวนาน


ในยุคใหม่ ชาติใดได้จัดเวิลด์คัพรอบสุดท้ายนับเป็นการยกระดับตนเองในเวทีระหว่างประเทศอีกขั้น แอฟริกาใต้และบราซิลในปี 2010 และ 2014 จะแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานนั้น ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เคยแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันกันในทีจากการเป็นเจ้าภาพร่วมในปี 2002 ความเหนือกว่าในเชิงบอลของโสมขาวตอกย้ำการแก้ปมในใจของคนเกาหลีให้ตระหนักใหม่ว่ายุคนี้เกาหลีล้ำหน้าญี่ปุ่นไปเกือบทุกเรื่องแล้ว


การแข่งขันระหว่างทีมชาติที่มีฉากหลังเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองยิ่งดึงดูดการจับจ้องจากประชาชนทั้งโลก คู่ที่ดัง ๆในอดีต มีอาทิ เช่น การเตะรอบแรกบอลโลกปี 1974 ซึ่งเยอรมันตะวันออกและตะวันตกมาเจอกันโดยฝ่ายหลังเป็นเจ้าภาพแต่ดันแพ้ 0-1 เสียนี่ ชัยชนะของโลกคอมมิวนิสต์ต่อทุนนิยมในครั้งนั้นถูกนำไปโฆษณาถึงความเหนือกว่าของระบอบแดงอยู่นาน

การดวลแข้งรอบ 8 ทีมสุดท้ายระหว่างอังกฤษกับอาร์เจนติน่าเมื่อปี 1986 ก็สำคัญ เพราะเป็นการล้างตาสงครามฟอล์กแลนด์ที่อังกฤษพิชิตอาร์เจนติน่าอย่างยับเยินเมื่อ 4 ปีก่อน ผลบอลออกมาในเชิงตอกย้ำความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามเมื่ออาร์เจนติน่าชัยชนะด้วย”หัตถ์พระเจ้า”ของดีเอโก้ มาราโดน่า

ปีนี้เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้เข้าสู่รอบสุดท้ายพร้อมกันเป็นครั้งแรก แต่โอกาสพบกันกลางสนามแทบไม่มี เว้นแต่จะถึงรอบรองชนะเลิศกันทั้งคู่ (ซึ่งก็ร่วงไปหมดแล้วตามคาด)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น