วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หลังถวายฏีกา...

แม้ว่าจะมีกระแสและการกระทำจากหลายฝ่ายมุ่งต่อต้านคัดค้านการถวายฎีกาของคนเสื้อแดง แต่ถึงวันนี้คงไม่มีอะไรเปลี่ยนใจพวกเขาได้ การคะเนไปในทางร้ายของฝ่ายคัดค้านนั้นมีผู้เขียนถึงมากอยู่แล้ว เช่นเดียวกับฝ่ายเสื้อแดงที่ยกเหตุผลแสดงความชอบธรรมของการถวายฎีกา แต่ผลของการยื่นฏีกาไม่ใช่มีโอกาสแต่เพียงการชังน้ำหน้าระหว่างสองฝ่ายกันหนักขึ้น หรือลงเอยด้วยการตีกันจนบรรลัยตามที่บางพวกปรารถนา ยังมีโอกาสให้กับความสันติหลังวันที่ 17 ส.ค.อยู่


ถ้ามองในแง่บวกแล้ว การยื่นฎีกาครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า อาการไม่เอาสถาบันซึ่งอาจมีอยู่บ้างในคนเสื้อแดงบางหมู่นั้นถูกลดบทบาทลงไปมาก การปลุกเร้าการรักสถาบันอย่างแรงกล้าของแกนนำที่ยื่นถวายฏีกา จะกระตุ้นให้คนเสื้อแดงเพิ่มความจงรักภักดีในสถาบันมากยิ่งขึ้น การที่ประชาชนมีแนวคิดเทิดทูนสถาบันไม่ว่าเสื้อสีไหนเป็นเรื่องที่น่ายินดี และทำให้พอมองเห็นแสงสว่างของการแก้ปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนอีกมากหลาย สำหรับผู้ที่คิดว่าแกนนำเสื้อแดงมีจุดมุ่งหมายแฝงหรือไม่รักสถาบันจริงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่สัญญาประชาคมที่แสดงบนเวทีนั้นทำให้มวลชนเสื้อแดงส่วนใหญ่มาก ๆ ยึดมั่นในสถาบันหนักแนนขึ้นไปอีก และทำให้พวกที่ต่อต้านสถาบันแอบแฝงอยู่นั้นต้องคิดหนัก


แน่นอนว่าคนเสื้อแดงจะไม่หยุดเคลื่อนไหวหลังวันที่ 17 ยิ่งรัฐบาลมีแผลทุจริตมากขึ้น คนเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจสังคมทวีเป็นวงกว้างมากขึ้น และความแตกร้าวกันเองในขั้วที่บริหารประเทศ ย่อมทำให้ฝ่ายแกนนำเสื้อแดงสั่งรุกต่อ แต่ถึงแม้การเดินหน้านั้นจะยกเป้าหมายที่เปลี่ยนแปรตามสถานการณ์ไปอย่างไรก็ตาม (อาจถึงขั้นเดือนหน้าไล่รัฐบาล เดือนถัดไปไล่อำมาตย์) การดำเนินการจะยังอยู่ใต้กรอบของกฎหมายเสมอ แนวทางชี้วัดเปรียบเทียบก็คือ ถ้าเสื้อแดงยื่นฏีกาแก่สำนักราชเลขาธิการแล้วนิ่งรออย่างที่ประกาศไว้จริง ๆ เรื่องอื่น ๆ ก็คงไม่กล้าฝืนกฎหมาย การต่อสู้ด้วยการอิงกรอบกฎหมายนั้นน่าจะทำให้หายใจคล่องขึ้นหน่อยนึงว่า โอกาสที่จะนำไปสู่ความรุนแรงนั้นน้อยลงไป


แต่ทุกอย่างนั้นมันก็ไม่แน่ เพราะกระแสต่อต้านฏีกาที่แรงมากอย่างจงใจจากบางกลุ่มอาจปลุกเร้าสัญญาณบางอย่างก็ได้ อาจทำให้คนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าถึงจุดที่ยอมกันไม่ได้ สวนกับอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจการขัดขวางสิทธิที่ตนคิดว่ามี ความขัดแย้งชิงชังกันยิ่งฝังลึก ยากต่อการสมานฉันท์และพร้อมที่จะเกิดเหตุการณ์พิเศษได้เสมอ

คมชัดลึก 16 ส.ค.52

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ลาก่อนดวงหฤทัยแห่งฟิลิปปินส์

การจากไปด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ของนางคอราซอน อาคิโน ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นของวันเสาร์ที่ 31 ก.ค.เป็นการปิดตำนานชีวิตเหลือเชื่อของแม่บ้านคนหนึ่งซึ่งต้องรับภาระต่อสู้เผด็จการต่อจากสามีโดยไม่นึกไม่ฝัน กลายเป็นผู้ที่ได้รับความชื่นชมที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ 7000 เกาะ เป็นผู้นำการปฏิวัติประชาชนเรือนล้านที่ออกมากันเต็มถนน และเป็นประธานาธิบดีอีก 6 ปีก่อนกลับไปเป็นแม่บ้านตามเดิม จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยวัย 76 ปี


แม้ว่าสามีของนางคอราซอน (แปลว่าสุดที่รัก) จะเป็นถึงผู้นำฝ่ายค้านฝีปากเอก นางคอราซอนก่อนวันที่ 21 ส.ค.2526 นั้นก็แทบไม่มีคนรู้จัก แต่เมื่อเบนิโต อาคิโน อดีตผู้นำฝ่ายค้านกล้าบินกลับฟิลิปปินส์โดยไม่ฟังคำขู่ของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์คอส เขาถูกจัดฉากยิงตายคาสนามบินทันที ทั่วโลกประณามระบอบมาร์คอสว่าอยู่เบื้องหลังแผนการนี้ เลยยิ่งเป็นการเร่งปฏิกิริยาให้กระบวนการโค่นล้มมาร์คอสรณรงค์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน นางคอราซอนผู้มีรอยยิ้มอันอบอุ่น กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของรากหญ้าฟิลิปปินส์ทั้งมวลในการเคลื่อนไหวหมายล้มเผด็จการ จนมาร์คอสต้องยอมให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2529


ขนาดเลือกตั้งแล้วมาร์คอสยังกล้าโกง เช่น บางเกาะประชากรมีแต่เต่าก็ลงคะแนนได้หมื่นกว่าตัว ผลคือชนะนางคอราซอนได้ แต่ทุกฝ่ายไม่เอาด้วย แม้แต่ทหารก็ยอมเปิดทางให้ประชาชนมือเปล่าบุกทำเนียบมาลากันยัง ทำให้ผู้ที่ทรงอำนาจสูงสุดของฟิลิปปินส์มายาวนานถึสองทศวรรษต้องบินหนีไปตรอมใจตายที่ฮาวายในอีกเพียง 3 ปีต่อมา


นางคอราซอนเป็นประธานาธิบดีที่ไม่โดดเด่นนักเมื่อเทียบกับฟิเดล รามอส คนที่รับสืบทอดอำนาจต่อจากเธอ แต่ก็สร้างเสถยรภาพให้กับประเทศชาติได้พอสมควร ความนิยมของเธอในหมู่ประชาชนและข้าราชการมีส่วนช่วยให้เธอรอดพ้นจากการก่อกบฏถึง 7 ครั้ง ส่วนเรื่องไม่ชอบมาพากลก็มีเหมือนกัน เช่นการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกร ไป ๆ มาๆ เอื้อประโยชน์ให้แก่ตระกูลเสียนี่ และมีการใช้กำลังกับชาวนาจนเจ็บตายกันจำนวนไม่น้อย


พีเพิ่ล พาวเออร์ ที่คอราซอน อาคิโน มีส่วนสำคัญในการสร้างนั้นนับเป็นคุณานุปการที่ยิ่งใหญ่ต่อชาวฟิลิปปินส์ แต่ในอีกแง่หนึ่งประชาชนก็ติดกับการใช้พลังมวลชนไล่ประธานาธิบดีที่เขาคิดว่าโกง ประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้า โดนเข้าไปเมื่อปี 2544 และทำให้นางกลอเรีย อาร์โรโย เถลิงอำนาจขึ้นมา ในวันนี้นางซูซาน โรเซส ภริยาม่ายของอดีตคู่แข่งชิงประธานาธิบดีกับนางกลอเรีย ก็กำลังรณรงค์มวลชนไล่นางกลอเรียออกจากตำแหน่งอย่างขะมักเขม้น

คมชัดลึก 4 สิงหาคม 2552

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สงสาร พญ.เบญจวรรณ

ขึ้นต้นหัวเรื่องอย่างนี้ อย่าพึ่งคิดว่าผมก็ร่วมเฮไปกับเขาด้วย ที่จะด่าหมอที่ผิดจรรยาบรรณรักษาคนไข้คนนี้ เพราะผมขอแสดงความเห็นในเชิงเห็นใจต่างหาก

สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่สงสารกันแล้วหรือ ตั้งแต่เมื่อไหร่

หรือว่าตั้งแต่มีคนกลุ่มหนึ่ง อ้างว่าตัวดีเลิศประเสิรฐศรีออกมาประท้วงขับไล่ไม่เผาผีคน ๆ หนึ่ง โดยแสดงอาการเคียดแค้นออกสาธารณะชนิดที่ว่าไม่กลัวโดนด่ากลับ

ไม่นานนับจากนั้น จนถึงวันนี้ก็แค่ 3-4 ปี เราได้เห็นอาการ"เคียดแค้นฝั่งตรงข้าม" กระจายไปอย่างดับไม่ได้

เอาเถอะครับ ผมพอเข้าใจ เพราะคนบางคนเขาก็สมควรเกลียดเหมือนกัน กลุ่มบางกลุ่มสมควรถูกประท้วงเหมือนกัน

แต่กับหมออายุ 25 คนหนึ่ง เสื้อแดงจะไม่สงสารเธอเลยหรือครับ

จริงล่ะ การกระทำของ พญ.เบญจวรรณ นั้นผิดจรรยาบรรณแพทย์ชัดเจน และอีกข้อหนึ่งก็คือ ถ้าเธอเป็นแม่ค้าไม่ขายของให้ลูกค้าเสื้อแดง นั่นพอรับได้ว่าเธอมีสิทธิ แต่เธอนี่เป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลที่ต้องให้บริการลูกค้าทุกคน เธอต้องให้บริการคน ๆ นี้

การกระทำของเธอสมควรได้รับการประณาม แต่ก็ควรพอประมาณ ให้โอกาสเธอบ้างเถอะครับ

จริงอยู่ที่เธอยังไม่สำนึก อาการที่ถูกหล่อหลอมมอมประสาทแบบนี้ไม่ใช่หายได้ง่าย ๆ แต่ครั้นจะตัดอนาคตเธออย่างเช่น เสนอยึดใบประกอบโรคศิล์ป หรือไล่ด่าเธอไม่หยุดในทุกที่นั้น ออกจะแรงเกินไปสักหน่อย


การไม่เอาเรื่องเอาราวกับเธอ อาจไม่มีผลต่อพฤติกรรมและความคิดในอนาคตของเธอ แต่น่าจะมีผลต่อชาวเสื้อแดงทั้งมวลว่า กลุ่มคนเสื้อแดงนั้นเป็นผู้ให้อภัย มีเมตตาจิตในเบื้องต้นอยู่เสมอ คุณค่าเช่นนี้ ศัตรูไม่นับถือไม่เป็นไร พวกคนเสื้อแดงมีนับถือในตัวเองอยู่แล้ว และจะยิ่งเพิ่มความนับถือในตัวเอง หากให้อภัย มีเมตตาจิต ต่อหมอเบญจวรรณ



ผมยังเชื่ออยู่ ว่าแม้ในช่วงแรก ความเกลียดจะระดมมวลชนที่คลั่งแค้นออกมา แต่ความรักเท่านั้นที่ระดมมวลชนก้อนใหญ่กว่าออกมามีชัยในที่สุด

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เนวิน ไม่มีทางติดคุก

ศาลคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีกำหนดประกาศคำตัดสินว่า เนวิน ชิดชอบ และพวกจะมีความผิดหรือไม่กรณีทุจริตกล้ายาง ในวันที่ 17 ส.ค.นี้ ตรงกับวันที่เสื้อแดงยื่นฏีกาให้สำนักราชเลขาธิการพอดี

เดาเอาว่า ถ้าศาลไม่เลื่อนคำตัดสินออกไป ก็อาจตัดสินว่ามีความผิด แต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน หรือจะกล้าให้เนวิน พ้นผิด เป็นไปได้ทั้งนั้น

แต่แทบไม่มีโอกาสที่จะให้เนวินติดคุก เลย

ทำไมคิดเช่นนั้น

เพราะ 1. ถ้าเนวิน ต้องติดคุก ทั้งที่ช่วยงานทุกอย่างขนาดนี้ ก็ถือว่าใจหมาเหลือเกินแล้ว และจะเป็นตัวอย่างต่อไป ใครเขาจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่อีก กรณีเช่นนี้ ก็คงเหมือนกับ พวกที่ลอบยิงสนธิ ก่อคาร์บอมบ์ทักษิณ โอกาสติดคุกนั้นยากเต็มที่ ถ้าจะติด ก็ระดับปลาซิวปลาสร้อย ที่มีเงื่อนไขต้องเลี้ยงลูกเมียเขาให้ดี

2.เนวิน นั้นมีประโยชน์ยิ่งกว่าประชาธิปัตย์ แม้ว่าจะโฉ่งฉ่างกว่า คุณภาพก็จำกัด ภาพลักษณ์ก็ด้อย แต่ฝ่ายที่ใช้เนวินนั้นสามารถควบคุมเบ็ดเสร็จกว่า เคยถึงกับข่มขู่แก้ผ้ามาแล้ว ใช้งานเนวิน ไม่ต้องกลัวทรยศ เพราะเป็นการเมืองระบบเก่า เรื่องเปลี่ยนขั้วนั้นไม่สำคัญ สำคัญที่เป็นแรงงานใช้ได้ดีขนาดไหน ซึ่งการเมืองท้องถิ่น เก็บเเต้มเข้าพกเข้าห่อนั้น เนวินถนัดมาก น่าใช้ ต่างจากบางกลุ่มที่ชอบแบล็คเมล์ จนเอาไว้ไม่ได้ หรือพวกที่เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น ว่าง ๆ เดี๋ยวมันก็เอาชั่วใส่ให้ผู้มีอำนาจ

3.เนวิน ฉลาดพอที่จะเอาสถาบันมาบังหน้า ถ้าแค่ทำงานโดยการโจมตีทักษิณอย่างเดียว น้ำหนักยังไม่พอในการป้องกันตัว ต้องแสดงให้เห็นว่าทำเพื่อสถาบันด้วย ผลคือ หากฝ่ายกุมบังเหียนคิดจะตัดเชือกเนวิน ก็อาจเจอเสียงครหาว่า ทำเช่นนั้นกับผู้จงรักภักดีอย่างเนวินนั้นเหมะสมแล้วหรือ ข้อนี้จะเป็นประเด็นปกป้องเนวิน อย่างที่สนธิใช้ปกป้องตนเองอยู่

เมื่อพิจารณาจาก 3 ข้อนี้แล้ว หากเนวิน ต้องติดคุกแบบรักเกียรติ สุขธนะจริง ๆ ก็จะเเปลกใจมาก

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เร่งรัดเรื่องที่เริ่มเลือนหาย

เวลานี้รัฐบาลกำลังหายใจเข้าหายใจออกเป็นการพยายามรับมือกับคนเสื้อแดงเป็นวาระเร่งด่วนที่สุด ส่วนความพยายามอื่นก็ไม่พ้นการเร่งทำคะแนนนิยมเหนือหน้าอดีตนายกทักษิณ ฯ ทำให้ปัญหาความมั่นคงของจริงบางอย่างดูจะให้ความสนใจน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดหมูที่กำลังระบาด ชายแดนเขมรที่ตึงเครียด และที่เรื้อรังมานานคือชายแดนภาคใต้


คุณปิยะ กิจถาวร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มอ.ปัตตานี เขียนจดหมายมาถึงผมเมื่อสองสัปดาห์ก่อน แสดงความเป็นห่วงในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของรัฐบาล พร้อมทั้งนำจดหมายเปิดผนึกที่ 6 สถาบันการศึกษาภาคใต้ร่วมกันกระตุ้นนายก มาให้ผมช่วยประชาสัมพันธ์ ในเนื้อหานั้นกล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนใต้ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ความเคียดแค้นชิงชังขยายตัวซึมซับสู่เยาวชน จนโอกาสสร้างสันติสุขในพื้นที่ดูมืดมน ทั้งนี้การบุกยิงมัสยิดอัลฟุรกอนเมื่อ 8 มิ.ย.ที่มีคนตายคาที่สิบศพ นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสถานการณ์นองเลือด เพียงแต่จะหาหลักฐานชัดเจนได้แบบไหน


หลักฐานชัดเจนนี้ก็คือ หากโจรกระทำ แสดงว่าโจรเตรียมพ่ายแพ้ด้านความชอบธรรมได้เลย แต่หากเป็นฝีมือมือที่ 3 ก็ประเทศชาติก็เตรียมเผชิญกับการขยายตัวของความรุนแรง ภายใต้ความไม่เอาไหร่ของฝ่ายรัฐ และหากเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็แสดงว่าล้มเหลวทั้งรัฐและกอ.รมน. ดังนั้นทั้ง 6 สถาบันจึงเรียกร้องให้รัฐหาคนผิดมาให้ได้ รวมทั้งกรณียิงครู ยิงพระด้วย โดยแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนทราบเป็นระยะเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจของฝ่ายรัฐ นอกจากนี้ยังควรเร่งรัดการเยียวยาจิตใจผู้สูญเสียด้วย


เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับจดหมายฉบับนี้ครับ ในทางปฏิบัติเชื่อว่าฝ่ายรัฐกำลังหาความจริงอยู่แล้ว เพียงแต่ความจริงนั้นบางเรื่องอาจเข้าถึงยาก บางเรื่องติดขัดด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง แต่ไม่ว่าอย่างไรรัฐต้องนำความกระจ่างในระดับหนึ่งออกมาสร้างความมั่นใจให้กับคนในพื้นที่และคนที่เขาจับตามองอยู่ให้ได้ ไม่เช่นนั้นสถานการณ์มีแต่จะเลวลง เหมือนกับที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนบางองค์กรรายงานเป็นนัยว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าอุสตาซและโจมตีมัสยิด ทั้งนี้การล้างแค้นในเชิงตอบโต้กันไปมาจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เข้าทางโจรร้ายที่กำลังเร่งให้ประชาคมมุสลิมโลกเข้ามาแทรกแซง

คมชัดลึก 20 กรกฏาคม 52

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มก่อการร้ายสากลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายภายในโรงแรม RitZ-Carlton และ JW Marriotts บนถนนย่านธุรกิจของอินโดนีเซียเมื่อ ๑๗ ก.ค.๕๒ ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๙ คน รวมทั้งชาวต่างชาติ ๔ คน และมีผู้บาดเจ็บ ๕๓ คนนั้น แม้ว่าจะไม่มีกลุ่มก่อการร้ายใดแสดงความรับผิดชอบต่อปฏิบัติการดังกล่าว แต่ทางการอินโดนีเซียระบุว่าน่าจะเป็นการกระทำของกลุ่ม Jemaah Islamiyah (JI) กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง โดยการก่อเหตุครั้งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของนาย Noordin Mohammad Top อดีตสมาชิกของกลุ่มที่มีเชื้อสายมาเลเซีย และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายขนาดใหญ่ในกรุงจาการ์ต้าและนครบาหลีของอินโดนีเซียในห้วงปี ๒๕๔๕-๒๕๔๘


หลังจากก่อเหตุโจมตี สอท.ออสเตรเลีย/อินโดนีเซียเมื่อปี ๒๕๔๗ กลุ่ม JI ได้ยุติปฏิบัติการขนาดใหญ่ เนื่องจากได้รับการกดดันจากทางการอินโดนีเซียอย่างหนัก นาย Abu Bakar Ba’asyir ผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มถูกดำเนินคดี (ถูกปล่อยตัวเมื่อปี ๒๕๔๙ แต่ยังอยู่ในความเฝ้าระวังของทางการอย่างใกล้ชิด) สมาชิกของกลุ่มถูกสังหารและจับกุมจำนวนมาก ทำให้ขาดแคลนบุคลากรที่มีขีดความสามารถทดแทน อีกทั้งแกนนำมีความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ ทำให้แกนนำบางส่วนกระจายไปจัดตั้งกลุ่มย่อยในที่ต่าง ๆ เช่นนาย Uma Patek จัดตั้งกลุ่มในมินดาเนา/ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ดังนั้นในห้วงปี ๒๕๔๗-๒๕๕๒ กลุ่ม JI จึงอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกำลัง โดยยังคงประสานงานระหว่างเครือข่าย มุ่งเน้นการเผยแผ่อุดมการณ์ รวบรวมกำลังพล ทุนและอาวุธ ตลอดจนการลักลอบฝึกอาวุธ รวมทั้งการเพิ่มอิทธิพลของกลุ่มในกลุ่มก่อการร้ายหลักของภูมิภาค เช่น แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islam Liberation Front – MILF)แต่ไม่มีการปฏิบัติครั้งใหญ่


สถานการณ์ก่อการร้ายในภูมิภาคเริ่มตึงเครียดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ซึ่งกลุ่ม MILF ยกเลิกการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ การสู้รบและการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นในฟิลิปปินส์ทำให้กระแสมุสลิมหัวรุนแรงขยายตัวขึ้น ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวในพื้นที่อื่นของภูมิภาค ประกอบกับการที่สงครามในอัฟกานิสถานรุนแรงขึ้น ทำให้มีผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานเดินทางเข้ามายังอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก โดยยอดชาวอัฟกานิสถานที่ลงทะเบียนในสถานะผู้พลัดถิ่นของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Unied Nations High Commissoner for Refugee – UNHCR) ในกรุงจาการ์ต้ามีมากกว่า ๑,๒๐๐ คน โดยจำนวนที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้หลายเท่า นอกจากนี้การที่สหรัฐ ฯ มีนโยบายทะยอยปล่อยตัวหรือย้ายสถานที่คุมขังผู้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายสากลที่ถูกคุมขังที่ค่ายกักกันอ่าว Guantanamo/คิวบา ให้หมดก่อนปิดค่ายอย่างเป็นทางการใน ม.ค.๕๓ ทำให้มีผู้ถูกปล่อยตัวแล้ว ๕๓๔ คน(ม.ค.๕๒) ในจำนวนนี้มีรายงานยืนยันว่า ๗๔ คนกลับไปเกี่ยวข้องการก่อการร้ายอีก รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ในรอบ ๒ เดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์เฉพาะที่อาจนำไปสู่การก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ดังนี้


๑. เมื่อ ๑๖ มิ.ย.๕๒ ทางการสิงคโปร์ได้ปล่อยตัวผู้ก่อการร้ายคนสำคัญ ๒ คนคือนาย Arifin bin Ali สมาชิก JI ผู้ถูกทางการไทยจับกุมขณะวางแผนก่อเหตุร้ายในไทยและได้ส่งตัวให้สิงคโปร์เมื่อปี ๒๕๔๖ และนาย Jalaluddin Sanawi สมาชิกกลุ่ม MILF ปัจจุบันทั้งสองอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังของทางการสิงคโปร์

๒. เมื่อ ๒๔ มิ.ย.๕๒ ตำรวจอินโดนีเซียได้จับกุมนาย Husani Ismail สมาชิก JI ผู้เคยวางแผนโจมตีสนามบิน Changi ของสิงคโปร์เมื่อปี ๒๕๔๔ จากข้อมูลด้านการข่าวของ สน.ผชท.ไทย/จาการ์ต้าเชื่อว่า การก่อการร้ายต่อโรงแรมในจาการ์ต้าเมื่อ ๑๗ ก.ค.๕๒ ส่วนหนึ่งเป็นการตอบโต้การจับกุมดังกล่าว


๓. เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย ๒ ครั้งบนเกาะมินดาเนา/ฟิลิปปินส์ โดยเมื่อ ๕ ก.ค.๕๒ ปรากฏขึ้นนอกโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในเมือง Cotabato มีผู้เสียชีวิต ๕ คน บาดเจ็บ ๔๐ คน และเมื่อ ๗ ก.ค.๕๒ ที่ จ.Sulu ,ผู้เสียชีวิต ๖ คน บาดเจ็บ ๒๔ คน ทางการฟิลิปปินศืเชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อการร้าย Abu Sayyaf ที่ตอบโต้การโจมตีค่ายของกลุ่ม ฯ ก่อนหน้านั้นไม่นาน



จากแนวโน้มและสถานการณ์เฉพาะของการก่อเหตุร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการก่อเหตุโจมตีโรงแรมในจาการ์ต้าเมื่อ ๑๗ ก.ค.๕๒ แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่ากลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ฟื้นตัวขึ้นแล้ว หากไม่สามารถกวาดล้างจับกุมผู้ก่อเหตุคนสำคัญได้ในเวลาอันสั้น กลุ่มก่อการร้ายอาจได้ใจและกล้าขยายปฏิบัติการเป็นวงกว้างต่อไป นอกจากนี้ หากไม่มีมาตรการที่รัดกุมกว่าเดิมในการสกัดกั้นการเชื่อมโยงระหว่างแกนนำก่อการร้าย อุดมการณ์ เงินทุน แนวร่วมผู้หลงเชื่อ ตลอดจนผู้อพยพจากต่างถิ่น กลุ่มก่อการร้ายอาจประสบความสำเร็จในการก่อการร้ายดังเช่นที่เคยเกิดในในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐