วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

แนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มก่อการร้ายสากลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายภายในโรงแรม RitZ-Carlton และ JW Marriotts บนถนนย่านธุรกิจของอินโดนีเซียเมื่อ ๑๗ ก.ค.๕๒ ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๙ คน รวมทั้งชาวต่างชาติ ๔ คน และมีผู้บาดเจ็บ ๕๓ คนนั้น แม้ว่าจะไม่มีกลุ่มก่อการร้ายใดแสดงความรับผิดชอบต่อปฏิบัติการดังกล่าว แต่ทางการอินโดนีเซียระบุว่าน่าจะเป็นการกระทำของกลุ่ม Jemaah Islamiyah (JI) กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง โดยการก่อเหตุครั้งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของนาย Noordin Mohammad Top อดีตสมาชิกของกลุ่มที่มีเชื้อสายมาเลเซีย และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายขนาดใหญ่ในกรุงจาการ์ต้าและนครบาหลีของอินโดนีเซียในห้วงปี ๒๕๔๕-๒๕๔๘


หลังจากก่อเหตุโจมตี สอท.ออสเตรเลีย/อินโดนีเซียเมื่อปี ๒๕๔๗ กลุ่ม JI ได้ยุติปฏิบัติการขนาดใหญ่ เนื่องจากได้รับการกดดันจากทางการอินโดนีเซียอย่างหนัก นาย Abu Bakar Ba’asyir ผู้นำทางจิตวิญญาณของกลุ่มถูกดำเนินคดี (ถูกปล่อยตัวเมื่อปี ๒๕๔๙ แต่ยังอยู่ในความเฝ้าระวังของทางการอย่างใกล้ชิด) สมาชิกของกลุ่มถูกสังหารและจับกุมจำนวนมาก ทำให้ขาดแคลนบุคลากรที่มีขีดความสามารถทดแทน อีกทั้งแกนนำมีความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ ทำให้แกนนำบางส่วนกระจายไปจัดตั้งกลุ่มย่อยในที่ต่าง ๆ เช่นนาย Uma Patek จัดตั้งกลุ่มในมินดาเนา/ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ดังนั้นในห้วงปี ๒๕๔๗-๒๕๕๒ กลุ่ม JI จึงอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกำลัง โดยยังคงประสานงานระหว่างเครือข่าย มุ่งเน้นการเผยแผ่อุดมการณ์ รวบรวมกำลังพล ทุนและอาวุธ ตลอดจนการลักลอบฝึกอาวุธ รวมทั้งการเพิ่มอิทธิพลของกลุ่มในกลุ่มก่อการร้ายหลักของภูมิภาค เช่น แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islam Liberation Front – MILF)แต่ไม่มีการปฏิบัติครั้งใหญ่


สถานการณ์ก่อการร้ายในภูมิภาคเริ่มตึงเครียดขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ซึ่งกลุ่ม MILF ยกเลิกการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ การสู้รบและการก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้นในฟิลิปปินส์ทำให้กระแสมุสลิมหัวรุนแรงขยายตัวขึ้น ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวในพื้นที่อื่นของภูมิภาค ประกอบกับการที่สงครามในอัฟกานิสถานรุนแรงขึ้น ทำให้มีผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานเดินทางเข้ามายังอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก โดยยอดชาวอัฟกานิสถานที่ลงทะเบียนในสถานะผู้พลัดถิ่นของสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Unied Nations High Commissoner for Refugee – UNHCR) ในกรุงจาการ์ต้ามีมากกว่า ๑,๒๐๐ คน โดยจำนวนที่แท้จริงอาจสูงกว่านี้หลายเท่า นอกจากนี้การที่สหรัฐ ฯ มีนโยบายทะยอยปล่อยตัวหรือย้ายสถานที่คุมขังผู้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายสากลที่ถูกคุมขังที่ค่ายกักกันอ่าว Guantanamo/คิวบา ให้หมดก่อนปิดค่ายอย่างเป็นทางการใน ม.ค.๕๓ ทำให้มีผู้ถูกปล่อยตัวแล้ว ๕๓๔ คน(ม.ค.๕๒) ในจำนวนนี้มีรายงานยืนยันว่า ๗๔ คนกลับไปเกี่ยวข้องการก่อการร้ายอีก รวมทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ในรอบ ๒ เดือนที่ผ่านมามีเหตุการณ์เฉพาะที่อาจนำไปสู่การก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ในเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ดังนี้


๑. เมื่อ ๑๖ มิ.ย.๕๒ ทางการสิงคโปร์ได้ปล่อยตัวผู้ก่อการร้ายคนสำคัญ ๒ คนคือนาย Arifin bin Ali สมาชิก JI ผู้ถูกทางการไทยจับกุมขณะวางแผนก่อเหตุร้ายในไทยและได้ส่งตัวให้สิงคโปร์เมื่อปี ๒๕๔๖ และนาย Jalaluddin Sanawi สมาชิกกลุ่ม MILF ปัจจุบันทั้งสองอยู่ภายใต้การเฝ้าระวังของทางการสิงคโปร์

๒. เมื่อ ๒๔ มิ.ย.๕๒ ตำรวจอินโดนีเซียได้จับกุมนาย Husani Ismail สมาชิก JI ผู้เคยวางแผนโจมตีสนามบิน Changi ของสิงคโปร์เมื่อปี ๒๕๔๔ จากข้อมูลด้านการข่าวของ สน.ผชท.ไทย/จาการ์ต้าเชื่อว่า การก่อการร้ายต่อโรงแรมในจาการ์ต้าเมื่อ ๑๗ ก.ค.๕๒ ส่วนหนึ่งเป็นการตอบโต้การจับกุมดังกล่าว


๓. เกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย ๒ ครั้งบนเกาะมินดาเนา/ฟิลิปปินส์ โดยเมื่อ ๕ ก.ค.๕๒ ปรากฏขึ้นนอกโบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในเมือง Cotabato มีผู้เสียชีวิต ๕ คน บาดเจ็บ ๔๐ คน และเมื่อ ๗ ก.ค.๕๒ ที่ จ.Sulu ,ผู้เสียชีวิต ๖ คน บาดเจ็บ ๒๔ คน ทางการฟิลิปปินศืเชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อการร้าย Abu Sayyaf ที่ตอบโต้การโจมตีค่ายของกลุ่ม ฯ ก่อนหน้านั้นไม่นาน



จากแนวโน้มและสถานการณ์เฉพาะของการก่อเหตุร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งการก่อเหตุโจมตีโรงแรมในจาการ์ต้าเมื่อ ๑๗ ก.ค.๕๒ แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่ากลุ่มก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ฟื้นตัวขึ้นแล้ว หากไม่สามารถกวาดล้างจับกุมผู้ก่อเหตุคนสำคัญได้ในเวลาอันสั้น กลุ่มก่อการร้ายอาจได้ใจและกล้าขยายปฏิบัติการเป็นวงกว้างต่อไป นอกจากนี้ หากไม่มีมาตรการที่รัดกุมกว่าเดิมในการสกัดกั้นการเชื่อมโยงระหว่างแกนนำก่อการร้าย อุดมการณ์ เงินทุน แนวร่วมผู้หลงเชื่อ ตลอดจนผู้อพยพจากต่างถิ่น กลุ่มก่อการร้ายอาจประสบความสำเร็จในการก่อการร้ายดังเช่นที่เคยเกิดในในช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ6/8/52 10:02

    สวัสดีครับตามมาชมผลงานจากโอเคเนชั่นครับผม สบายดีนะครับ

    ตอบลบ
  2. สวัสดีค่ะ

    คุณเรือรบ

    วันนี้แวะมาอ่านบทความและทักทายค่ะ


    redribbons07

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณทั้งสองท่านครับ ที่ยังติดตามงานเขียนของผม แม้ผมออกจากที่นั่นมาได้เกือบ 8 เดือนแล้ว

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ6/1/53 10:40

    หวัดดีปีใหม่เรือรบ พ.ท.ชาคร ลักษณะโบธิน

    ตอบลบ