วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อนาคตของกองทัพอยู่ที่อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ

การที่กองทัพไทยซึ่งเป็นกองทัพอันดับ 2 ของเอเชียเมื่อประมาณ 80 ปีก่อน ค่อย ๆ ลดทอนลงมาจนต้องถูกกองทัพท้ายแถวอย่างกัมพูชาท้าทายทุกวันนี้ ได้กล่าวไปแล้วในบทก่อนว่าเกิดจากความชะงักงันของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ในด้านอาวุธชั้นสูงนั้นเราเลิกซื้อลิขสิทธิ์เครื่องบินมาสร้างเอง ทั้งที่เครื่องบินแบบคอร์แซร์และฮ็อกพับ เวอร์ชั่นไทยทำนั้นฉกาจขนาดไล่โจมตีฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนโงหัวไม่ขึ้นมาแล้ว

ในรอบ 60 ปีมานี้ เราหันไปจัดหาแบบซื้อจากชาติตะวันตกเป็นหลัก โดยไม่ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีกันเสียด้วย ทำให้กองทัพไทยไม่สามารถทะลุกรอบปัญญาประดิษฐ์ สร้างอาวุธเทคโนโลยีสูงเองแบบอินเดียหรือจีนไม่ได้ ขณะที่อาวุธชั้นรองเช่นปืนเล็ก กระสุน ระเบิด เราก็ทำได้ในระดับหนึ่ง วิจัยมาก็ยังต้องรอตรวจนั่น ประเมินนี่ ไป ๆ มา ๆ ก็อยู่ในหิ้งหนังสือเป็นส่วนใหญ่ ซื้อต่างชาติเอาง่ายกว่า


นอกเหนือจากการติดกับต่างชาติ ที่ต้องซื้อของจากฝรั่งและจีนกันไม่หยุดหย่อนแล้ว กระบวนการเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยยังมีปัญหา เช่น ในทางกฏหมาย พ.ร.บ.ด้านนี้ยังไม่ออกมา จึงยังไม่รู้ทิศทางอย่างเป็นทางการว่าเราจะดำเนินไปอย่างไร

จริง ๆ แล้วผู้ใหญ่ก็พึ่งกำหนดนโยบายด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศไปเมื่อ ธ.ค.52 นี้เอง กว่าจะกลไกทุกอย่างจะเดินเครื่องและเห็นผลสำเร็จก็คงต้องใช้เวลาอีกนาน แล้วจะทันกับชาติเพื่อนบ้านที่เร่งเครื่องอุตสาหกรรมชนิดนี้ไปนานแล้วหรือไม่


ขณะที่ไทยยังไม่ชัดเจนว่าเอกชนจะเข้ามาร่วมมือพัฒนาการสร้างยุทโธปกรณ์และยุทธปัจจัยได้ขนาดไหน กองทัพเรือยังพิจารณาดินขับจรวดที่สร้างเองว่าจะเวิร์คหรือไม่ และปืนใหญ่ต้นแบบที่กองทัพจัดสร้างยังไม่ขึ้นประจำการ ชาติอย่างเวียดนามและมาเลเซีย ก็พากันพัฒนายุทโธปกรณ์ของตนไปลิ่ว ไม่ต้องพูดถึงสิงคโปร์ ถึงวันนี้แม้ว่าพวกเขาจะยังคงต้องซื้อหาอาวุธต่างชาติอยู่ แต่ก็ไปได้ไกล ที่เวียดนามนั้นมีการจัดตั้งวิสาหกิจของทุกกองพล กรมการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอดีตชาติที่พึ่งพาแต่อาวุธโซเวียต บัดนี้ร่วมลงทุนกับเอกชนทั้งในและนอกประเทศ ในด้านสื่อสาร ต่อเรือ การบินและสื่อสาร ไม่เว้นแม้แต่ด้านที่มิใช่การรบเช่นรองเท้า


ความจริงโครงสร้างของอุตสาหกรรมและพลังงานของกองทัพไทยนั้นไม่เลวเลย ในทางทฤษฎีเรายังกุม สป.ของเราเองไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกรรม พลังงาน กระสุน อาวุธ ปิโตรเลียมหรือสื่อสาร กองทัพมีหน่วยงานวิจัยและผลิตไม่น้อย ขอให้กองทัพกำหนดนโยบายให้ชัดเจน ทุ่มเทงบประมาณด้านวิจัยลงมา ส่งเสริมบุคลากรอันทรงคุณค่า ผลักดันงานวิจัยให้กลายเป็นจริง นำผลผลิตแบบไทยทำประจำการบรรจุแทนการจัดหาจากต่างชาติ ร่วมทุนเอกชนแบบเดินหน้าเปิดหลากหลายพรมแดนข่ายงาน หาทางให้ได้ลิขสิทธิ์และเทคโนโลยีชั้นนำมาผลิตเอง ถ้าทำเช่นนี้ได้ อนาคตก็พอมองเห็นครับ


คมชัดลึก 3 กุมภาพันธ์ ปีนี้

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ19/6/53 23:41

    พี่โจ้ครับ เท่าที่อ่านดู ช่างเป็นโครงการที่ดีเหลือเกินกับอนาคตความยิ่งใหญ่ของกองทัพไทยที่สามารถยืนบนขาของตัวเองด้วยอาวุธไฮเทคโนโลยีที่ผลิตเองและมีคุณภาพไม่แพ้ของฝรั่ง

    แต่ในทางปฏิบัติ เรื่องนโยบายอุตสาหกรรมป้องกันประเทศจะเป็นเพียงแค่ความฝันที่ไม่อาจเป็นจริง เพราะบรรดาผู้ใหญ่หลาย ๆ คนยังต้องการเปอร์เซ็นต์จากการสั่งซื้ออาวุธแบบไม่จำกัดอยู่ดีครับ ไม่ต่างจากการฝันใ้ห้บอลไทยไปบอลโลกในเวลาอันใกล้นี้หรอกครับ (อันที่จริง วงการบอลไทยเราก็ได้เริ่มพื้นฐานของบอลอาชีพไปแล้ว คงต้องใช้เวลาพัฒนากันต่อไปอีกครับ

    ไม่ต้องเอาถึงกับเครื่องบินรบ เรือดำน้ำ สมรรถนะสูงหรอกครับ แค่เรือเหาะราคาสามร้อยกว่าล้านที่ทำท่าเป็นเรือแห้วอยู่ทางภาคใต้ตอนนี้ ใครจะรับผิดชอบ แล้วไม้ชี้ศพรุ่นจีที 200 ที่กองทัพยังปากแข็งไม่ยอมรับผิด แล้วยังดื้อแพ่งจะใช้ต่อไป เท่านี้ก็เห็นอนาคตรำไรของกองทัพไทยแล้วครับ

    เอาเป็นว่า ตอนนี้บรรดานายพลบางคน รวมทั้งพวกบิ๊ก ๆ ทั้งหลายที่กำลังจะเกษียณในอีกไม่กี่เดือนนี้ลองเปิดบัญชีเงินสดของตัวเองออกมาให้ประชาชนทราบหน่อยสิครับว่า ท่านช่างมีความเป็นอยู่ที่ทัดเทียมกับทหารชั้นผู้น้อยเพียงใดครับ

    ติ่ง

    ตอบลบ
  2. พวกนายพลดัง ๆ มักต้องลงเล่นการเมืองหลังเกษียณไปสักระยะหนึ่ง เพื่อใช้บารมีอิทธิพลสกัดกั้นการฟ้องร้องของประชาชนเรื่องทุจริตครับ

    ถ้าประชาชนฟ้องไม่ทันภายใน 2 ปี ก็ถือว่าลอยนวล หลังจากนั้นแล้วใครร้องเรียนอีกมิได้

    ส่วนการสอบสวนของ ป.ป.ช. ถึงแม้จะทำได้ตลอดเวลา แต่ก็รู้กันอยู่ว่าประสิทธิภาพเป็นยังไงครับ

    ตอบลบ