วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

สงกรานต์นี้ขอให้ทุกคนมีความสุขและปลอดภัยนะครับ

สงกรานต์นี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ไม่มีการชุมนุมทางการเมืองขนานใหญ่ สถานการณ์คงไปแรงเอาหลังยุบสภา (ถ้าหากมี) ดังนั้นปีนี้ขอให้ทุกคนเที่ยวอย่างมีความสุขนะครับ ระมัดระวังตัวด้วย ความปลอดภัยของตนเองและคนที่รักเป็นสิ่งสำคัญที่สุดครับ

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

ติดตามผมทางเฟซบุ๊คด้วยนะครับ

ความจริงผมมี facebook ตั้งสองสามปีแล้ว แต่ไม่ค่อยได้อัพ

แต่จะพยายามเข้ามากขึ้น ลิงก์ข่าวบทความในเฟซบุ๊คมากขึ้น

เพื่อน ๆ ที่อยาก add เป็นเพื่อนก็เชิญนะครับ


ขอบคุณครับ

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

ปัญหาพระวิหาร เพราะมีวันนั้นจึงมีวันนี้

พันธมิตรออกมาเดินขบวนแล้ว แตกหักกับประชาธิปัตย์ด้วยประเด็นอธิปไตยเหนือพื้นที่ทับซ้อน รวมทั้งเขาพระวิหารด้วย

บทความชิ้นนี้เขียนเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว ลงในคมชัดลึก นี่เป็นปมที่ประชาธิปัตย์และพันธมิตรแก้ไม่ตกมาจนทุกวันนี้

----------------------



กลายเป็นเรื่องพูดไม่ออกจัดการไม่ได้สำหรับการแก้ปัญหาการรุกคืบเจ้ายึดพื้นที่ไทยอย่างถาวรของฝ่ายเขมร โดยอาศัยความเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารเป็นทัพหน้า เพราะเราพลาดตั้งแต่ทำเอ็มโอยูเมื่อ 10 ปีก่อน แล้วมาพลาดซ้ำด้วยด้วยการนำปัญหานี้มาเล่นการเมืองอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ โวหารที่เกิดขึ้นช่วยอะไรไม่ได้ ทางออกต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะตีบตันรอการเขี่ยบอลจากเขมรแล้วคอยโต้ ทางแก้คือต้องให้เขมรตกหลุมเราอีกครั้ง แต่จะทำได้เช่นนั้นจริงหรือในเมื่อเขมรเขาตื่นแล้ว


การทำบันทึกข้อตกลงกับกัมพูชาเมื่อปี 2543 อาจมีเจตนาดีในการแก้ไขปัญหาเขตแดนทั้งระบบ แต่ก็ทำให้เขมรที่หนุนโดยฮุนเซ็นตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนบนเขาโดยถาวร ไล่ก็ไม่ไปเพราะพวกนี้ตั้งใจจะมาแทนที่เขมรแดงอยู่แล้ว ที่น่าวิตกที่สุดคือการรับรองแผนที่ฝรั่งเศสในเอ็มโอยูในครั้งนั้นจะทำให้เราเพลี่ยงพล้ำในทุกการต่อรองต่อไป ประเด็นข้อตกลงนี้ฝ่ายเสื้อเหลืองไม่เปิดปากสักแอะในช่วงไล่รัฐบาลทักษิณ แต่ในวันที่ประชาธิปัตย์และการเมืองใหม่ต้องวางกำลังเตรียมต่อสู้แย่งชิงมวลชนฐานเสียงเดียวกันในสนามเลือกตั้งที่อาจมีได้ทุกเมื่อนั้น แผลนี้ถูกนำมาเล่นอย่างหนัก


กัมพูชามีแผนขึ้นทะเบียนปราสาทเดี่ยว ๆ อยู่นานแล้ว จึงยืนกรานไม่ให้ไทยเอี่ยว แต่หากเมื่อปี 2551เรายอมให้เขมรขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลกในส่วนตัวปราสาทกับพื้นที่อีกนิดหน่อยซึ่งรัฐบาลสฤษดิ์ยอมรับเมื่อปี 2505 ซะ ปัญหาอาจเบาบางลง เพราะเขมรจะเสียความชอบธรรมในตัวพื้นที่ทับซ้อน แต่นี่เราดันเล่นการเมืองทะเลาะกันจนเขมรขึ้นทะเบียนในตอนแรกไม่ได้ เลยฉุกใจไปเปลี่ยนแผนการรวมทั้งแผนที่ซะใหม่ แล้วเขาก็ได้เป็นมรดกโลกไปโดยเราขวางไม่สำเร็จ หนำซ้ำยังกินพื้นที่ทับซ้อนจนปวดหัวมาจนทุกวันนี้


รัฐบาลเสียโอกาสที่จะจัดการกับเขมรช่วงตัดถนนขึ้นเขา เพราะต้นปี 2552 มัวแต่อ่อนให้เขมร เลิกพูดแล้วว่าตัวปราสาทเป็นของเรา ทั้งยังส่งวัตถุโบราณคืนเขาอีก แต่เขมรฮึดเสียแล้ว รุกสร้างบ้านเรือน ถนนหนทางมากขึ้นอย่างน่าตกใจ รัฐบาลมาเริ่มตีหน้าเสือใส่เขมรหลังจากที่ฮุนเซ็นแต่งตั้งทักษิณเป็นที่ปรึกษานี่เอง ซึ่งนั่นไม่ทันแล้ว การประท้วงโวยวายต่าง ๆ เป็นไปแค่ในเชิงโวหารหรือในหน้ากระดาษ ส่วนของจริงในพื้นที่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เขมรเอาอาวุธหนักเข้ามาประชิดปราสาทไปหมด แต่นี่ก็เป็นเหตุผลข้อเท็จจริงที่ทำให้คณะกรรมการมรดกโลกไม่อนุมัติแผนดูแลมรดกโลกของรัฐบาลพนมเปญ เพราะหากรับบรรยากาศแบบนี้ได้ อีกหน่อยหมู่บ้านปันมุนจอมของเกาหลีก็คงเป็นมรดกโลกได้เหมือนกัน


แนวทางแก้ไขของฝ่ายไทยคือทำให้กลับไปสู่สถานะเดิมที่ไทยได้เปรียบ เช่นปักปันเขตแดนก่อน ซึ่งต้องเรื้อรังแน่ ว่าแต่เขมรจะยอมตามและไทยจะได้พื้นที่ทับซ้อนหรือเปล่าก็ยังตอบไม่ได้

วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

พันธมิตรอัสดง

ประเดิมปีใหม่ 2554 ด้วยประเด็นล่อเป้าแบบเรื่องของพันธมิตร ตีพิมพ์ในกรุงเทพธุรกิจ 16 ธันวาคม ปีก่อน ดังนี้ครับ

----------------------


การกรีธาทัพครั้งล่าสุดหน้ารัฐสภาของอดีตทัพเสื้อเหลืองผู้เกรียงไกรเมื่อสองปีก่อนนั้นเรียกคนได้แค่ห้าร้อยคนทั้งที่อ้างประเด็นที่ใช้หากินเสมอมานั่นคือ เพื่อต่อต้านการขายชาติของคนบางกลุ่ม แต่คราวนี้ไม่ได้ผล และคงยากจะได้ผลในวันที่ 25 มกราคมศกหน้า ที่พวกเขานัดชุมนุมใหญ่กันอีกครั้งด้วย ความถดถอยของพวกเขาเกิดจากตนเองและจากอดีตมหามิตรอย่างประชาธิปัตย์ โอกาสฟื้นของพวกเขานั้นพอมี แต่ต้องอยู่ในรูปลักษณ์อื่นและภายใต้แกนนำใหม่ ส่วนองคาพยพของพวกเขานั้นยังมีลมหายใจได้อีกระยะหนึ่ง เหมือนเช่น กลุ่มอภิรักษ์จักรีในอดีตที่ก็อยู่ได้นานหลายปีเหมือนกัน


นับตั้งแต่จุดเริ่มก่อรูปปลายปี 2548 จนแข็งแกร่งที่สุดในปี 2552 เครือข่ายสนธิ-สันติอโศก-NGO ค่อยๆ ลดบทบาทลงตามความนิยมในตัวพวกเขา แทบจะทันทีที่ประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แม้ว่าในชั้นต้นมวลชนของพันธมิตรจะแยกไม่ค่อยออกจากประชาธิปัตย์ อีกทั้งภารกิจของพวกเขาก็ยังไม่เสร็จสิ้น สุเทพ เทือกสุบรรณ ยังมีอิทธิพลในภาคใต้ เครือข่ายเนวิน ชิดชอบ ยังคงอยู่ในรัฐบาล หนำซ้ำ เสื้อแดงพันธุ์แดงทั้งแผ่นดินก็แรงขึ้นมา นั้น ฝ่ายพันธมิตรกลับถดถอยลงทุกวัน แม้แต่อัตลักษณ์เสื้อเหลืองยังสูญเสียไปเป็นสีตองอ่อน ยิ่งมาวันนี้ ต้องรบแย่งชิงมวลชนคนชั้นกลางกับประชาธิปัตย์ สาระที่เอามาเล่นงานรัฐบาลก็ยังมีเนื้อหาไม่ต่างจากเสื้อแดงเสียอีก ไม่ว่าจะเป็น MOU 43 หรือการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนานไป อาการโจมตีจึงไม่เต็มปากเต็มเสียงนัก


ปัจจัยหนึ่งของการคลายศรัทธาในพันธมิตรของมวลชนที่เคยเชิดชูจำนวนมาก ก็คือ สภาวะแวดล้อมของฟากคนเสื้อเหลืองวันนี้ไม่มีที่ยืนให้กับสุดโต่ง แม้ว่าชาวเสื้อเหลืองหลายเผ่าพวกจะกอดคอกันล้มรัฐบาลทักษิณ-สมัคร-สมชาย แต่เมื่อพวกเขาได้อำนาจรัฐก็ย่อมต้องยึดเพียงหนึ่งเดียวที่มีโอกาสครองอำนาจยาวนานสูงสุด ประชาธิปัตย์เป็นตัวเลือกนั้นมาตั้งแต่ตอนเลือกตั้งแล้ว ผู้สนับสนุนเสื้อเหลืองล้วนใช้ "หลักการออมกำลัง" ด้วยการทุ่มพลังส่วนใหญ่ให้ประชาธิปัตย์ไปสู่ชัยชนะและรักษาบัลลังก์ จนยากจะมี "ทรัพยากร" เหลือให้เหลืองกลุ่มอื่น ยิ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์อยู่นาน ก็ยิ่งสะสมทรัพยากรทั้งหมดเพื่อต่อกรกับฝั่งเสื้อแดง พันธมิตรยิ่งได้น้อยลง และมีประโยชน์น้อยลงด้วย ผู้หนุนหลังเสื้อเหลืองไม่จำเป็นต้องใช้พันธมิตรรบกับเสื้อแดง เพราะมีกองทัพและอำนาจรัฐอยู่ในมือให้ใช้


การที่จู่ๆ ฟากเสื้อเหลืองได้ครองอำนาจรัฐแล้วพลิกกลยุทธ์จากการใช้พันธมิตรเป็นส่วนเข้าตีหน้าด้วยพลังแรง เป็นการพร่ำใช้แนวทางปรองดองเพื่อนำคนเสื้อแดงมาสู่การสมานฉันท์นั้นมีส่วนทำให้แนวทางของพันธมิตรล้าสมัยไปทันที คนเสื้อเหลืองที่เคยเห็นดีเห็นงามกับพันธมิตรสมัยยึดทำเนียบหรือปิดสนามบินก็กลับถอยห่าง อ้างว่าตนเองเป็นคนรักสงบ ไม่เอากระแสสุดโต่งไม่ว่าพันธมิตรหรือเสื้อแดง การเร่งส่งเสริมแนวทางนี้ของประชาธิปัตย์ ทำให้สามารถแยกมวลชนของตนออกจากพันธมิตรเป็นเนื้อเป็นหนัง ส่งผลดีในการสกัดคู่แข่งที่เป็นเหลืองเหมือนกันในภาคใต้ ทั้งยังรักษาภาพลักษณ์ "ใสสะอาดแบบชนชั้นกลางในเมือง" ให้อยู่กับพรรคและมวลชนของพรรคเอาไว้ได้


งานนี้พันธมิตรได้แต่อึ้ง พรรคพวกที่เคยขึ้นเวทีก็ถอยห่าง ทั้งที่ในยุครุ่งเรืองก็มีคนชั้นนำของสังคมเข้าร่วมมากมาย วันนี้คนเหล่านั้นไม่อยากจะพูดถึงวิถีทางยูโทเปียแบบ 70/30 อีกแล้ว ไม่อยากจำการปราศรัยบนเวทีของตนเองแบบพูดคำด่าคำ บางคนพอเปลี่ยนสถานะก็หันมาต่อต้านแนวคิดพันธมิตรเสียเลยก็มี เมื่อขาดคนชั้นครีมของสังคม พลังที่กลุ่มเคยมีก็หมดลง สายใยที่เกาะเกี่ยวอยู่บ้างนั้นก็พออยู่ได้ หากไม่ปะทะกับผู้นิยมประชาธิปัตย์ซึ่งหน้า กล่าวคือ พันธมิตรยังมีเวทีให้เล่นถ้าเลือกแต่บทโจมตีฝ่ายเสื้อแดง ส่งเสริมสถาบัน หารายได้จากการขายสินค้า หรือแม้แต่เผยแผ่ลัทธิ แต่หากล้ำเข้ามาแข่งขันกับประชาธิปัตย์ เช่น มองต่างมุมประเด็นการเมือง ต่อต้านกระแสทุนนิยมหรือลงเลือกตั้งบางวาระแล้วละก็ ประชาธิปัตย์ไม่มีวันยอมพันธมิตรเลย ยิ่งขัดกันนานไปก็มาถึงวันนี้ วันที่สื่อของพันธมิตรก็อัดประชาธิปัตย์ไม่น้อยไปกว่าอัดทักษิณ


เพื่อการคงอยู่ขององค์กร เท่าที่ผ่านมา พันธมิตรเลือกที่จะเล่นบทยึดหลักการที่ตนเคยกล่าวอ้างบนเวที เช่น การไม่ยอมให้เขมรรุกคืบยึดดินแดน หรือเป็นปรปักษ์กับการเมืองโกงกินไม่ว่าฝ่ายไหน งานนี้นับว่ายึดกุมจิตใจผู้ศรัทธาอย่างแก่กล้าเอาไว้ได้ แต่มีคำถามว่ามวลชนกลุ่มนี้ จะเพิ่มขึ้นจนเป็น somebody ทางสังคมได้เหมือนเมื่อปี 2551 อีกได้ไหม เมื่อดูจากบริบทและจากการดำเนินการของประชาธิปัตย์แล้วก็ตอบว่ายาก ฐานเสียงกลุ่มนี้เพียงพอจะช่วยต่ออายุให้สื่อพันธมิตรได้เท่านั้น


อนาคตของพันธมิตรนั้นไม่ถึงกับเก็บฉากลงในเวลาอันสั้น เพราะยังมีสื่อในมือที่เก่งด้านการตลาดและหารายได้ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ศรัทธาพันธมิตร แต่ก็ตามรับรู้สื่อของพันธมิตรที่หากินกับการเป็นปรปักษ์ทักษิณและตลาดสินค้าและบริการ SME ได้อีกนาน แต่ความหวังที่จะมีเสียงแข็งทางการเมืองทั้งในสภาและบนถนนนั้นคงไม่ไกลไปกว่านี้ได้ ยิ่งเรื่องอื่นก็ไม่ต้องกล่าวถึง กระนั้นก็ตามรูปลักษณ์ใหม่และแกนนำใหม่จะเป็นเครื่องสานต่อบางส่วนเสี้ยวของอุดมการณ์แบบพันธมิตรไว้ได้


ถึงสีเหลืองและสีตองอ่อนจะไม่เวิร์ค แต่คนชั้นกลางในเมืองที่ใส่เสื้อหลากสี และที่ปฏิเสธว่าตนไม่ใช่พันธมิตรนี่แหละคือผู้สานต่ออุดมการณ์บางส่วนนั้น พวกเขาอยู่ระหว่างการทำความเข้าใจการเมืองบริบทใหม่ ที่ถึงแม้จะยังคลุ้งไปด้วยอคติและการลากข้าง แต่ก็ยังเริ่มตั้งคำถามและแสวงคำตอบใหม่ๆ ที่บอกว่าฝ่ายที่ตนเลือกนั้นก็ไม่ใช่เทวดาที่ถูกไปซะทุกเรื่อง หรือฝ่ายที่ตนเหยียดว่าเป็นปรปักษ์นั้นก็ยังมีแง่มุมที่ดีให้เลือกใช้สอยอยู่ คนเหล่านี้จะรับเอาแง่คิดบางส่วนของพันธมิตรมาใช้ เหมือนที่พวกเขาก็เผื่อใจให้กับแนวทางประชานิยมว่าก็จำเป็นหรือมองการเมืองแบบยอมรับ pragmatic นั่นแหละ คนเหล่านี้อาจผลักดันการตรวจสอบนักการเมืองที่เข้มข้น การออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของผู้เสียเปรียบมากขึ้น การอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างทันสมัย หรือแม้แต่การปฏิรูปวงการสงฆ์ อย่าลืมว่าในอดีตนั้นถึงแม้กลุ่มอภิรักษ์จักรีจะไม่ค่อยมีใครเอา แต่ใครก็ว่าพวกเขาไม่ได้ในเรื่องของการจงรักภักดี หรือการมุ่งมั่นเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยเอาไว้

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สวัสดีปีใหม่ 2554 ครับทุกท่าน

ตอนนี้ผมกำลังเดินทางไปอินเดีย ไปดูสถานการณ์ความขัดแย้งในแคว้นแคชเมียร์ กลับมาอีกทีหลังปีใหม่ครับ

ที่หายจากบล็อกไปนาน เนื่องจากภารกิจในงานเยอะมาก นี่ก็พึ่งกลับมาจากจาการ์ตา/อินโดนีเซีย

ที่สำคัญคือน้องชายผมนอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเดือน จนบัดนี้ยังไม่หายดี ต้องผ่าตัดสมอง สแกนสันหลัง เพราะมันรั่ว เขาว่าเป็นรายแรกของเมืองไทย

ก็ได้แต่หวังว่ากลับมาปี 2544 จะมีเรื่องราวมาเล่าให้ฟังเยอะขึ้นครับ เขียนบล็อกให้ถี่ขึ้น

สุขสันต์วันคริสต์มาส และปีใหม่นะครับ

บ๊ายบาย

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร

“ยากที่สุด คือยุทธศาสตร์” คำกล่าวนี้ไม่เกินเลยความจริงแต่อย่างใด เพราะยุทธศาสตร์คือเครื่องบอกทางของทุกสิ่งที่บุคคลหรือองค์กรจะเดินไปจนบรรลุความสำเร็จ ปัจจุบันการศึกษาและรังสรรค์ยุทธศาสตร์หรือกลยุทธเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้บริหารระดับสูงและองค์กรต่าง ๆ แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ชาติอย่างเป็นทางการ สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือในช่วงเวลานี้ของทุกปีนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรจะเสนอยุทธศาสตร์ชาติในแนวคิดของพวกเขาให้นายกรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงของชาติและกองทัพทราบ สิ่งที่บรรดาคนระดับครีมของประเทศชาติเสนอนี้ไม่ได้ผูกมัดให้ฝ่ายบริหารบ้านเมืองต้องนำไปเป็นกรอบในการคิดการวางนโยบาย แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องตรวจสอบได้ว่าผลประโยชน์ของชาติ ตลอดจนแนวทางที่ถูกที่ควรซึ่งนักคิดกลั่นออกมานั้นจะสอดคล้องกับนโยบายของผู้มีอำนาจตัดสินใจในรัฐบาลและองค์กรว่าจะเป็นไปได้เพียงไร


วันที่ 7 ก.ย.53 นักศีกษา วปอ.ได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติในห้วง 5 ปีข้างหน้าเสร็จสิ้นและแถลงให้นายกฟังที่หอประชุมกองทัพเรือ นี่คือผลงานทั้งปีของพวกเขาในการร่วมมือกันวิเคราะห์หาวิธีที่ใช้พลังอำนาจของชาติอย่างเกิดอรรถประโยชน์สูงสุดเพื่อบรรลุวัตุถุประสงค์ของชาติ ซึ่งก็หนีไม่พ้นการอยู่ดีมีสุขและมีเกียรติในสังคมโลก ในการนี้พวกเขาได้นำเสนอสาระสังเขปของผลประโยชน์ของชาติ วัตุถประสงค์แห่งชาติทั้งเฉพาะและมูลฐาน นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ของชาติในรูปแบบมาตรการเฉพาะด้านต่าง ๆ ให้อภิสิทธิ์ฟังและหวังว่านโยบายต่าง ๆ ของรัฐนับจากนี้น่าจะต้องล้อตามแนวทางของพวกเขา เรื่องลึกลับของผลประโยชน์ทับซ้อนที่เคยอยู่คู่กับสังคมไทยมานาน จนคนกลุ่มหนึ่งหลงคิดว่าผลประโยชน์ของพวกเขาก็คืออันเดียวกับผลประโยชน์ของชาตินั้นจะค่อย ๆ หมดไป คนคิดยุทธศาสตร์ชาติหวังเช่นนี้ทุกรุ่น


ในปีนี้พิเศษตรงที่นักศึกษา”รุ่นน้อง”ของ วปอ. คือนักศึกษาวิทยาลัยเสนาธิการทหารและวิทยาลัยการทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ ได้ร่วมกันเสนอยุทธศาสตร์ทหาร บรรยายให้นายกฟังด้วย นับเป็นทางการครั้งแรกที่ผู้บริหารสูงสุดของรัฐได้ฟังกรอบแนวทางกำหนดแผนงานการใช้พลังอำนาจแห่งชาติด้านการทหาร ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบที่กำลังแปรกระบวนถล่มไทยในรอบ 5 ปีข้างหน้า งานที่ผมมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนี้ลงในรายละเอียดของยุทธศาสตร์ทหารเฉพาะ 6 กลุ่มงาน พร้อมด้วยขีดความสามารถที่ต้องการและมาตรการในแต่ละด้าน ตลอดจนโครงสร้างกำลังรบและโครงการต่างๆ แน่นอนว่าเราก็มุ่งหวังให้การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงภายใน การรักษาผลประโยชน์โพ้นทะเล การสร้างศักย์สงคราม การปกป้องสถาบันกษัตริย์และการพัฒนาประเทศเป็นไปในทางที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปเหมือนรุ่นพี่ที่เคยทำยุทธศาสตร์ทหารมาก่อน

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

จีน-ญี่ปุ่น ฮึ่มกันอีกแล้ว

ตอนนี้จีนกับญี่ปุ่นกำลังมีปัญหาพิพาทกันถึงขั้นจีนเลื่อนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงออกไป เพื่อเป็นการให้ความสนใจต่อเรื่องนี้ ผมจึงนำบทความที่เขียนลงคมชัดลึกเมื่อ 30 ส.ค. มาให้อ่านกัน เรื่อง"ปัญหาเกาะน้อยในทะเลจีนใต้มาอีกแล้ว" ครับ

---------------



แม้ว่าจีนกับญี่ปุ่นจะเป็นคู่สัมพันธ์ที่ขาดกันไม่ได้ แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไม่มีราบรื่นนานเกินไป ปัญหาเก่า ๆ ต้องผุดขึ้นมาสร้างความตึงเครียดทั้งในระดับผู้นำและประชาชนอยู่เสมอ ล่าสุดการจมเรือประมงจีนในน่านน้ำทับซ้อนของญี่ปุ่นก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจระหว่างกันขึ้นมาอีก ความรู้สึกชาตินิยมก็จะตามมาหล่อเลี้ยงความขัดแย้งอย่างเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าความขัดแย้งในห้วงเวลาจะคลี่คลายไป แต่เมื่อเงื่อนไขพร้อมก็จะดีดกลับขึ้นมาใหม่ เพราะเรื่องอธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ประเทศในเอเชียยังถือว่าเป็นเรื่องต่อรองกันไม่ได้


หมู่เกาะเตียวหยูในภาษาจีนหรือเซ็นกากุในภาษาญี่ปุ่น เป็นหมู่เกาะที่แทบจะเรียกว่าเป็นแค่โขดหิน กลางทะเลจีนตะวันออก เกาะย่อย ๆ ทั้ง 8 เกาะแทบไม่มีคนอยู่ ทรัพยากรบนเกาะก็ไม่มีอะไร แต่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อจีน ญี่ปุ่น ตลอดจนไต้หวัน เป็นอย่างมาก เพราะใต้น้ำมีก๊าซธรรมชาติอยู่เยอะ ปลาก็มีไม่น้อย ท่สำคัญคือใครครอบครองก็เหมือนได้สิทธิ์จ่อคอหอยฝ่ายอื่น ควบคุมเส้นทางลำเลียงทางทะเลเอาไว้ ดังนั้นกรณ๊เรือประมงจีนถูกเรือตรวจการณ์ญี่ปุ่นจับกุมเมื่อ 7 ก.ย. จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง เหมือนเช่นที่รัฐบาลโตเกียวก็กังวลต่อการที่จีนจะขุดเจาะหาก๊าซธรรมชาติในพื้นที่แถวนั้น หรือรัฐบาลไต้หวันประท้วงต่อการที่ญี่ปุ่นจะฝึกร่วมผสมกับสหรัฐ ฯ ในพื้นที่ใกล้กันในเดือน ธ.ค.ที่จะมาถึง


ไม่เหมือนเกาะต๊อกโด/ทาเคชิม่า ที่ญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นรองในการพิพาทพรมแดนกับเกาหลีใต้ แต่สำหรับเซ็นกากุแล้ว ทางการญี่ปุ่นให้ความสำคัญเต็มที่ เรือตรวจการณ์จำนวนมากจากโอกินาวาครัดเคร่งต่อปัญหาล้ำแดน แต่ยิ่งนานไปกลับพบความท้าทายจากจีนมีมากขึ้น เนื่องจากจีนก็เชื่อว่าพื้นที่แถบนี้เป็นของตน กอปรกับเทคโนโลยีทางทหารที่ดีขึ้นและการส่งเสริมเชิงกึ่งบูรณาการของจีนต่อเอกชน ทำให้มีข่าวประมง เรือขุดเจาะน้ำมัน หรือแม้แต่ ฮ.ทหาร ของจีนเข้าไปอยู่ในพื้นที่อ่อนไหว ตั้งแตปี 51 จีนได้ส่งเรือตรวจการณ์เข้าไปวนรอบรัศมี 12 ไมล์ของหมู่เกาะ และในปีถัดมาเครื่องบินขับไล่ของทั้งสองชาติถึงขั้นล็อคเป้ากัน เกือบจะด็อกไฟท์กันไปแล้ว


ไม่มีมีทางที่จีนและญี่ปุ่น หรือแม้ไต้หวันที่หากต้องการกันชนทางทางทะเลจะยอมเลิกอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะหินตาหินยายแบบนี้ หลักฐานและกฏหมายทางประวัติศาสตร์ที่ต่างอ้างมาใช้ล้วนเขียนขึ้นบนศักดิ์ศรีของบรรพบุรุษ ก็ได้แต่หวังว่าความตึงเครียดรอบใหม่จะคลี่คลายได้ง่ายบนบรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างสองชาติในปัจจุบันที่ถือได้ว่าดีที่สุดในรอบหลายปีทีเดียว