วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

จีน-ญี่ปุ่น ฮึ่มกันอีกแล้ว

ตอนนี้จีนกับญี่ปุ่นกำลังมีปัญหาพิพาทกันถึงขั้นจีนเลื่อนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงออกไป เพื่อเป็นการให้ความสนใจต่อเรื่องนี้ ผมจึงนำบทความที่เขียนลงคมชัดลึกเมื่อ 30 ส.ค. มาให้อ่านกัน เรื่อง"ปัญหาเกาะน้อยในทะเลจีนใต้มาอีกแล้ว" ครับ

---------------



แม้ว่าจีนกับญี่ปุ่นจะเป็นคู่สัมพันธ์ที่ขาดกันไม่ได้ แต่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศไม่มีราบรื่นนานเกินไป ปัญหาเก่า ๆ ต้องผุดขึ้นมาสร้างความตึงเครียดทั้งในระดับผู้นำและประชาชนอยู่เสมอ ล่าสุดการจมเรือประมงจีนในน่านน้ำทับซ้อนของญี่ปุ่นก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจระหว่างกันขึ้นมาอีก ความรู้สึกชาตินิยมก็จะตามมาหล่อเลี้ยงความขัดแย้งอย่างเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าความขัดแย้งในห้วงเวลาจะคลี่คลายไป แต่เมื่อเงื่อนไขพร้อมก็จะดีดกลับขึ้นมาใหม่ เพราะเรื่องอธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่ประเทศในเอเชียยังถือว่าเป็นเรื่องต่อรองกันไม่ได้


หมู่เกาะเตียวหยูในภาษาจีนหรือเซ็นกากุในภาษาญี่ปุ่น เป็นหมู่เกาะที่แทบจะเรียกว่าเป็นแค่โขดหิน กลางทะเลจีนตะวันออก เกาะย่อย ๆ ทั้ง 8 เกาะแทบไม่มีคนอยู่ ทรัพยากรบนเกาะก็ไม่มีอะไร แต่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อจีน ญี่ปุ่น ตลอดจนไต้หวัน เป็นอย่างมาก เพราะใต้น้ำมีก๊าซธรรมชาติอยู่เยอะ ปลาก็มีไม่น้อย ท่สำคัญคือใครครอบครองก็เหมือนได้สิทธิ์จ่อคอหอยฝ่ายอื่น ควบคุมเส้นทางลำเลียงทางทะเลเอาไว้ ดังนั้นกรณ๊เรือประมงจีนถูกเรือตรวจการณ์ญี่ปุ่นจับกุมเมื่อ 7 ก.ย. จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องเล็กสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง เหมือนเช่นที่รัฐบาลโตเกียวก็กังวลต่อการที่จีนจะขุดเจาะหาก๊าซธรรมชาติในพื้นที่แถวนั้น หรือรัฐบาลไต้หวันประท้วงต่อการที่ญี่ปุ่นจะฝึกร่วมผสมกับสหรัฐ ฯ ในพื้นที่ใกล้กันในเดือน ธ.ค.ที่จะมาถึง


ไม่เหมือนเกาะต๊อกโด/ทาเคชิม่า ที่ญี่ปุ่นค่อนข้างเป็นรองในการพิพาทพรมแดนกับเกาหลีใต้ แต่สำหรับเซ็นกากุแล้ว ทางการญี่ปุ่นให้ความสำคัญเต็มที่ เรือตรวจการณ์จำนวนมากจากโอกินาวาครัดเคร่งต่อปัญหาล้ำแดน แต่ยิ่งนานไปกลับพบความท้าทายจากจีนมีมากขึ้น เนื่องจากจีนก็เชื่อว่าพื้นที่แถบนี้เป็นของตน กอปรกับเทคโนโลยีทางทหารที่ดีขึ้นและการส่งเสริมเชิงกึ่งบูรณาการของจีนต่อเอกชน ทำให้มีข่าวประมง เรือขุดเจาะน้ำมัน หรือแม้แต่ ฮ.ทหาร ของจีนเข้าไปอยู่ในพื้นที่อ่อนไหว ตั้งแตปี 51 จีนได้ส่งเรือตรวจการณ์เข้าไปวนรอบรัศมี 12 ไมล์ของหมู่เกาะ และในปีถัดมาเครื่องบินขับไล่ของทั้งสองชาติถึงขั้นล็อคเป้ากัน เกือบจะด็อกไฟท์กันไปแล้ว


ไม่มีมีทางที่จีนและญี่ปุ่น หรือแม้ไต้หวันที่หากต้องการกันชนทางทางทะเลจะยอมเลิกอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะหินตาหินยายแบบนี้ หลักฐานและกฏหมายทางประวัติศาสตร์ที่ต่างอ้างมาใช้ล้วนเขียนขึ้นบนศักดิ์ศรีของบรรพบุรุษ ก็ได้แต่หวังว่าความตึงเครียดรอบใหม่จะคลี่คลายได้ง่ายบนบรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างสองชาติในปัจจุบันที่ถือได้ว่าดีที่สุดในรอบหลายปีทีเดียว

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับ คุณเรือรบ

    ขอบคุณมากครับสำหรับบทวิเคราะห์ข่าว สมกับที่รอคอยจริงๆ ผมคอยอ่านบทความจากคุณเรือรบอย่างใจจดใจจ่อเสมอครับ

    จีนคงอยากเป็นเจ้าผู้ครองโลก และคิดว่าตนเองนั้นย่ิงใหญ่มีอำนาจมากกว่าใครๆเพราะมีประชากรมากและมีทรัพยากรมาก ขออย่าให้สำคัญตนผิดถึงขนาดก่อสงครามโลกครั้งที่ 3 เลยนะครับ ถ้าเกิดสงครามคราวนี้ โลกคงไม่เหลืออะไร เพราะคงไม่มีใครยอมใครแน่ๆ ต่างฝ่ายต่างงัดเอาอาวุธสุดทันสมัยออกมาใช้

    ผู้นำน่าจะลดกิเลสในใจตนเอง ลดความบ้าอำนาจลงไป คิดถึงความสุขสงบของประชากรโลกสักหน่อยก็จะดีกว่าการลุแก่อำนาจแล้วดึงเอาคนไม่เกี่ยวข้องไปร่วมรบราฆ่าฟันกัน

    ตอบลบ