วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ออสเตรเลีย จ้าวมหาสมุทรรายใหม่

แผนการอัพเกรดกองทัพครั้งใหญ่ที่ใช้เงินมหาศาลที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียเริ่มแล้ว งานนี้ทั้งภูมิภาคต้องจับตามอง เพราะเป็นการสร้างสมแสนยานุภาพเพื่อการครองความเป็นจ้าวทะเลสองฟากฝั่งมหาสมุทร ถ่วงดุลอำนาจจีนที่กำลังเติมแต่งกองทัพแข่งขึ้นมา ขณะที่อเมริกา มหาอำนาจเดิมของภูมิภาคกำลังจะเฟดความสนใจไปที่อื่น และยกให้”มือสอง”ของตนอย่างออสเตรเลียและญี่ปุ่นช่วยแบกรับภาระในพื้นที่มากขึ้น


การพยายามโยกกำลังและอาวุธของสหรัฐ ฯ จากภาคพื้นแปซิฟิกไปอยู่จุดยุทธศาสตร์อื่นของโลกเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้สักประมาณ 10 ปีแล้ว พร้อมกับการกระตุ้นให้พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่มีศักยภาพร่วมรับผิดชอบทางทหารในภูมิภาคมากขึ้น ในเอเชียเหนือนั้นเกาหลีใต้และญี่ปุ่นสามารถช่วยรองรับแนวทางนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่พอหวังได้จริง ๆ คือออสเตรเลีย


เทคโนโลยีทางทหารของออสเตรเลียไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่เท่าที่ผ่านมาดูเหมือนกับยังไม่กล้าออกนอกเขตน่านน้ำของตนอย่างเต็มที่ จริงอยู่ที่หมู่เกาะทะเลใต้นั้นเป็นเขตอิทธิพลของออสเตรเลีย และหากเกิดเรื่องอะไรกับอินโดนีเซียหรือติมอร์ ออสเตรเลียเป็นต้องเข้าไปแสดงท่าทีป้องกันตนเองเชิงรุกก็ตาม แต่พึ่งจะมาไม่นานนี้เองที่ออสเตรเลียคิดจะเดินเรือทะเลลึก ขยายแนวป้องกันประเทศส่วนหน้าให้ครอบคลุมมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกให้มากที่สุด


ออสเตรเลียยุคนายเควิน รัดด์ ที่ใคร ๆ ว่าเอนเอียงจีนมากจนออกนอกหน้านี้เองที่เพิ่มงบประมาณทางทหารอย่างต่อเนื่องปีนี้ปาเข้าไป 24,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าปีก่อนซะอีกแม้ว่าจะเจอพิษเศรษฐกิจกับเขาเหมือนกัน สำหรับแผนการล่าสุดที่จะยกระดับยุทโธปกรณ์ใหม่ทั้งหมดให้สอดรับต่อยุทธศาสตร์ด้านลอจิสติกส์ของประเทศนั้นใช้งบประมาณมหาศาล หมดไปแล้ว 6 หมื่นล้านและคงจะหมดไปอีกเยอะจนกว่าจะครบถึงปี 2571 ที่สำคัญคือซื้อ บ.จู่โจมเอนกประสงค์ใช้บนเรือได้ เอฟ-35 จำนวน 100 ลำมาใช้แทนเอฟ-18 ที่มีอยู่เดิม บ.เหล่านี้จะประจำการบนเรือฟริเกตรุ่นใหม่ที่ปฏิบัติการได้ไกลฝั่งมากขึ้น ติดตั้งจรวดเรือ-สู่-พื้นพิสัยไกลจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้นจะต่อเรือดำน้ำไฮเทคอีก 12 ลำแทนที่เรือดำน้ำรุ่นเก๋าที่มีอยู่

การขยายแสนยานุภาพทางเรือเช่นนี้น่าจะมีผลทำให้ออสเตรเลียเข้าไปมีบทบาทในด้านการส่งกำลังบำรุงทางอาหารและพลังงานย่านมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกมากขึ้น โดยเฉพาะในจุดโช้คพ้อยท์ สำคัญอย่างเช่นช่องแคบมะละกาและทะเลอันดามัน เรียกว่างานนี้สวนกับจีนที่กำลังขยายตัวลงใต้พอดี แล้วจะเล่าเรื่องการขยายสนยานุภาพของจีนทางทะเลในโอกาสหน้าครับ

คมชัดลึก 10 พฤษภาคม 2552

3 ความคิดเห็น:

  1. ขอลงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศบ้าง เรื่องของไทยมองไปทางไหนก็เซ็ง นี่ก็เพาะศัตรูไว้รอบบ้าน รัฐบาลและกองทัพรุ่นต่อไปแย่แน่

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ28/5/52 22:10

    เท่าที่ผมศึกษามานะครับ ออสเตรเลียอาจจะมีกองทัพที่ทันสมัยในรูปของ ANZAC ร่วมกับกองทัพนิวซีแลนด์ แต่ขนาดของกองทัพนั้นคงไม่ใหญ่โตพอที่จะดูแลพื้นทะเลระดับมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหมดได้เป็นแน่ คงควบคุมได้เฉพาะแปซิฟิกใต้ ช่องแคบมะละกา และอันดามันเท่านั้น นี่ผมก็คิดว่ามากเกินไปแล้วนะครับ
    เท่าที่พิจารณาจากข้อมูลของพี่โจ้ ออสเตรเลียไม่มีเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่ ๆ ที่สามารถขนกองกำลังทางอากาศไปลุยในพื้นที่ไหน ๆ ได้อย่างเบ็ดเสร็จครบวงจร นี่ก็จะเป็นการยากเหมือนกันครับที่จะอวด "เพา" ให้ชาติอื่น ๆ เกรงขามได้ เพราะเรือบรรทุกเครื่องบินนับเป็นสัญลักษณ์ของยุทธศาสตร์ความเป็นมหาอำนาจด้านการทหารที่สำคัญครับ
    อ้อ จริงครับ รัฐบาลเรากำลังโชว์โง่แบบไม่รู้ตัวว่า กำลังตกเป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาคให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในขณะนี้ ในกรณีของพม่า ในขณะที่ตัวเองก็ไม่ใช่รัฐบาลที่สมศักดิ์ศรีความเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใด แล้วคอยดูเถอะครับว่า ความงี่เง่าเหล่านี้จะเกิดผลอะไรถัดมาครับ

    ติ่ง

    ตอบลบ
  3. ออสเตรเลียคงไม่แทนที่อเมริกาในทะเลจีนใต้หรอกครับ พื้นที่แถวนั้นยกให้กับเกาหลี ยี่ปุ่น เขาเล่นกันไป เอาแค่ช่วงชิงอำนาจกลางทะเลลึกอันดามัน ออสเตรเลียก็เหนื่อยแรงอย่างที่น้องติ่งว่า แต่ก็ต้องทำ ถ้าไม่อยากเป็นแค่ดาวน์อันเดอร์อย่างทุกวันนี้

    ออสเตรเลียยังไม่มีแผนสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินจริง ๆ ครับ พี่ว่าเขาคงคำนวณแล้วว่าเรือแบบนี้ในยุคนี้ล้าสมัยไปแล้ว เหมือนกับเรือประจัญบานสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นแหละ ยุคนี้มันต้องฟริเกต หรือคอร์เวตต์เร็ว ๆ จึงจะทันการ carrier โชว์พาวจริง แต่ค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มค่าครับ

    เรื่องของไทย พี่ได้แต่ส่วยหลังแล้วรำพึงว่า ภายภาคหน้าเหนื่อยกว่านี้แน่เลยตู

    ตอบลบ