วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2552

กบฏทหารพรานที่ธากา

ที่ใดที่มีความไม่ยุติธรรม การเอาเปรียบกดขี่กัน ที่นั่นย่อมมีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่ในกองทัพที่ซึ่งระเบียบวินัยค้ำคออยู่ การลุกขึ้นมาก่อกบฏจับผู้บังคับบัญชาและทหารเหล่าอื่นฆ่าทิ้งเสียของอาสาสมัครทหารพรานกลางกรุงธากาเมื่อ 25-26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

เป็นตัวอย่างอันพึงสังวรของการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะให้ห้วงเวลาแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจอย่างนี้

ทหารพราน ของบังกลาเทศนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยก็จริง แต่ขึ้นควบคุมทางยุทธการ ตลอดจนการอำนวยการและการฝึกกับ กองทัพบก เรียกว่าทุกอย่างทุกประการเป็นลูกไล่เขาหมด หน้าที่ดั้งเดิมคือรักษาความสงบบริเวณชายแดนและหากเกิดสงครามก็ไปรบตายก่อน ในฐานะแนวหน้า

ปัจจุบันภารกิจยิ่งมากขึ้น เพราะบังกลาเทศก็เผชิญภัยคุกคามรูปแบบใหม่ จึงต้องใช้ อส.เหล่านี้กวาดจับผู้ก่อการร้ายบ้าง ปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบบ้าง เช่นเดียวกับการสกัดกั้นยาเสพติด ภารกิจยิ่งหนัก แต่ค่าตอบแทนต่ำแค่เดือนละไม่กี่พันบาท สร้างความเครียดแก่พวกเขาซึ่งมีถึง 7 หมื่นคนใน 42 ค่ายทั่วประเทศ
ที่มันทนกันไม่ได้คือ การเปรียบเทียบกับทหารหลักที่มีโอกาส มีค่าตอบแทน เหนือกว่ากันทุกอย่าง ผู้บังคับบัญชาของพวกเขาสังกัด ทบ.ที่มีอนาคตรุ่งเรืองกว่า ยิ่งทหารหลักบังกลาเทศดำเนินช่องทางอย่างเป็นล่ำเป็นสันกับการไปร่วมรักษาสันติภาพต่างแดนแทบทุกมิชชั่นที่ยูเอ็นมี รายได้ของคนถือปืนสองกลุ่มนี้จึงต่างกันคนละโลก เมื่อบวกกับการเหยียดหยันและภาวะข้าวยากหมากแพง การลุกฮือขึ้นจับปืนไล่ยิงผู้บังคับบัญชาโดยไม่กลัวขึ้นศาลทหารจึงเกิดขึ้น

กรณีนี้ไม่ใช่การบันดาลโทสะ แต่เป็นการสั่งสมความแค้นและวางแผนมายาวนาน การเรียกร้องที่รัฐบาลไม่รับฟังทำให้ อส.กว่า 2,000 คน ยึด บก.ของตัวเอง ฆ่าพวกที่ไม่เห็นด้วยและเตรียมรบกับฝ่ายรัฐบาลเต็มที่ งานนี้นับว่า นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก ฮาสินา วาจิด แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี รู้ว่าหากรบกันก็คงแหลกไม่เพียงแค่ทั้งทหารหลักทหารรองในเมืองหลวง แต่ความวุ่นวายและพยาบาทกรรมคงกระจายต่อไปหลายเมือง เลยยอมนิรโทษกรรมให้กบฏเพื่อแลกกับการวางอาวุธ แล้วค่อยไปว่ากันต่อไปเรื่องพิจารณาข้อเรียกร้องของเหล่าทหารพราน

ชะตากรรมบังกลาเทศคล้ายกับบางประเทศที่เราคุ้นเคย ทั้งที่จนกันจะแย่ ปัญหาสังคมมีเพียบ แต่ประชาชนก็แตกแยกทางการเมืองอย่างหนัก ทหารและชนชั้นนำพยายามแทรกแซงการเมือง แต่ก็ไม่อาจสร้างความสงบอย่างแท้จริงได้ ก็ได้แต่หวังว่าบังกลาเทศจะโชคดี

เอกสารตีพิมพ์ น.ส.พ.คมชัดลึก 1 มีนาคม 2552

5 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15/3/52 22:37

    สวัสดีครับ คุณโจ้

    หวังว่าประเทศไทยคงจะได้เห็นเป็นอุทาหรณ์สอนใจ
    หากทุกฝ่ายสำนึกได้ คิดได้ ควรจะบริหารประเทศอย่างเป็นธรรม และ ยุติธรรมต่อทุกฝ่าย
    เพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์เหมือนอย่างในบังคลาเทศนะครับ

    อยากให้บ้านเมืองของเราสงบสุขครับ

    ขอบคุณสำหรับข่าวนะครับ

    http://www.oknation.net/blog/chedtha/2009/02/26/entry-1

    ผมเองครับ เชษฐา จาก บล๊อกโอเคเนชั่น

    ระลึกถึงคุณโจ้เสมอ

    เชษฐา

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ18/3/52 06:37

    ขอความกรุณาแก้ประวัติ
    แม้ท่านจะสอบได้ที่หนึ่งของผู้เข้าศึกษาในส่วนที่ไม่ได้เป็นทหารเรือ แต่จริง ๆ แล้วท่านได้ที่ 28 ของผู้เข้าศึกษาทั้งหมด จึงอยากให้แก้ประวัติ ตรง Naval Staff College , Royal Thai Navy ( Rank 1 st ) โดยตัดคำว่า "( Rank 1 st )" ออก เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนกับคนที่ได้ที่หนึ่งจริง ๆ

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณครับ เป็นความจริงตามนั้นจริง ๆ
    ผมมักจะใช้คำว่า "ที่ 1 นายทหารนักเรียนนอกสังกัดกองทัพเรือ" เสมอ พอมาเขียนเป็นภาษาอังกฤษเลยผิดไป ด้วยไม่ใจใส่ตรงนี้

    ขอบคุณที่เตือนครับ

    ตอบลบ
  4. คิดเพิ่มเติมอีกทีครับ

    การลงประวัติมากมายของผม ออกจะเป็นการอวดโอ่ตนเองเกินงาม ทั้งที่ประวัติก็ไม่ได้วิเศษมากมายอะไร ผมไตร่ตรองดูแล้ว เห็นว่าเพื่อน ๆ พี่น้อง ของผมที่ติดตามงานเขียนของผม คงไม่ได้ติดตามเพราะประวัติเหล่านี้ แต่เพราะสิ่งอื่น ๆ มากกว่า ดังนั้น ผมเอาที่ว่างตรงนี้ไปทำอย่างอื่นจึงน่าจะเหมาะสมครับ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ26/3/52 04:01

    สวัสดีครับ คุณโจ้

    ผมไม่เคยทราบมาก่อนว่า คุณโจ้มียศตำแหน่งอะไร ประวัติการศึกษาเป็นอย่างไร
    แต่ที่ผมชอบคุณโจ้ เพราะติดตามผลงานการเขียนบล๊อกจากเว็บบล๊อกโอเคเนชั่น
    ชอบความคิดเห็นที่มีอยู่ในบทความที่นำเสนอ และรู้สึกคุ้นเคยกับครอบครัวคุณโจ้
    เนื่องจากความเป็นกันเองของคุณโจ้ที่นำภาพและเรื่องราวมาคุยกับเพื่อนๆที่บล๊อก

    แม้คุณโจ้จะไม่อยู่โอเคเนชั่นแล้ว ผมก็ยังสนใจติดตามอ่านบทความของคุณโจ้เสมอ
    ประวัติการศึกษา และ ยศตำแหน่งนั้น เมื่อผมทราบแล้วก็ชื่นชม
    แต่ก่อนหน้านั้น ไม่ได้ทราบมาก่อน ก็ชื่นชมอยู่แล้วครับ

    ตอบลบ