วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2552

ใกล้เข้าสู่บทใหม่ การเมืองญี่ปุ่น

บทความนี้ขอต้อนรับ การชนะเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ญี่ปุ่น (ที่เป็นพรรคของคนนิยมประชาธิปไตยของจริง) ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อ 30 ส.ค.52 แล้วทำให้นายยูกิโอะ ฮาโตยามา จะเป็นนายกรัฐมนตรี บทความนี้ผมเขียนลงคอลัมน์โลกสาระจิปาถะ เมื่อ 24 ก.ค.52 โดยเป็นคอลัมน์แรกที่ได้เกียรติจากคมชัดลึกให้เขียนแทนคุณกวี จงกิจถาวร

ใกล้เข้าสู่บทใหม่การเมืองญี่ปุ่น

ถึงแม้ว่าการบริหารประเทศจะไม่ได้เรื่องมาโดยตลอด นายทาโร อาโสะ ก็ยังน่ายกย่องในตอนท้ายที่กล้ายุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ในญี่ปุ่น 30 ส.ค.นี้เสียที โดยไม่เปิดทางให้หัวหน้าก๊วนแก๊งค์ในพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือแอลดีพี พรรครัฐบาลที่กำลังเสื่อมศรัทธาในหมู่ประชาชนอย่างหนัก ได้มีโอกาสเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีกันอีก เพราะถึงได้เป็นนายกก็แก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้ เพราะประชาชนไม่เอาด้วย ดังนั้นเมื่อยุบสภาแล้วก็เชื่อขนมกินได้เลยว่า นายกคนต่อไปน่าจะชื่อ ยูกิโอะ ฮาโตยาม่า จากพรรคประชาธิปัตย์ญี่ปุ่น หรือ ดีพีเจ


ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้นายกเปลืองมาก เพราะนับถึงวันนี้ก็มี 59 คนเข้าไปแล้ว แค่หลังเลือกตั้งล่าสุดปี 48 ก็มีถึง 4 คน กระนั้นก็ตาม นับตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา จะดีจะชั่ว พรรคแอลดีพี ก็ครองอำนาจมาโดยตลอด เว้นแต่ช่วงสั้นในปี 2536-39 เท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนญี่ปุ่นออกแนวอนุรักษ์นิยมทางการเมือง สังเกตจากการไม่เคยแก้รัฐธรรมนูญเลยตลอด 62 ปี อีกทั้งฝ่ายแอลดีพี เองก็เล่นการเมืองเก่งมาก แม้แต่ในช่วง 15 ปีหลังมานี้ที่ขีดความสามารถของประเทศลดต่ำลงอย่างหนัก ก็ยังผลัดหน้ากันเข้ามาบริหารประเทศได้ แม้ว่าจะต้องเป็นรัฐบาลผสมบ้างก็ตาม แต่วันนี้ยากที่พรรคแอลดีพี จะฝืนขะตากรรม เพราะผลงานของนายกระยะหลังทุกคน ยกเว้นนายจุนอิฉิโร โคอิซูมิ ไม่เอาไหนเลยจริง ๆ ทำให้พรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคดีพีเจ ครองอำนาจในสภาสูงมาตั้งแต่ปี 2550 ทั้งล่าสุดในการเลือกตั้งท้องถิ่นปีนี้ก็เอาชนะพรรครัฐบาลอย่างถล่มทลาย จนกลายเป็นชนวนสำคัญที่นายอาโสะ ต้องลาออกในที่สุด


การที่ฝ่ายค้านครองอำนาจในสภาสูง ทำให้ฝ่ายรัฐบาลบริหารประเทศแบบเป็ดง่อย กฎหมายหลายฉบับต้องเสียเวลาในการผ่านร่าง รวมทั้งกฎหมายสำคัญอย่างเช่น การร่วมมือกับสหรัฐ ฯ ในสงครามอัฟกานิสถานหรือกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน ขั้นตอนที่ถูกกีดขวางทำให้การบริหารประเทศไม่เป็นผล คะแนนนิยมของพรรครัฐบาลจึงต่ำลง ตอนนี้โพลล์ชี้ว่าฝ่ายแอลดีพีมีคะแนนตามดีพีเจ ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ หลังเลือกตั้งใหม่ พรรคดีพีเจ น่าจะครองควบทั้งสภาสูงสภาต่ำ การบริหารประเทศคงจะราบรื่นขึ้น


นโยบายของรัฐบาลใหม่คงทำให้การเมืองญี่ปุ่นเปลี่ยนโฉมหน้ากันไปพอสมควร ซึ่งเราคงจะได้มีโอกาสวิเคราะห์กันต่อว่า ญี่ปุ่นจะถอยห่างจากสหรัฐ ฯ ได้แค่ไหน เพื่อนบ้านจะแฮปปี้ขึ้นหรือไม่ และญี่ปุ่นจะหลุดพ้นขอบเหวทางเศรษฐกิจได้ไหม หวังว่าฮาโตยาม่า จะมีความทนทะเลพอควร ไม่ล่มภายในเวลาไม่ถึงปีอย่างที่โมริฮิโร โฮโซกาว่า นายกนอกแอลดีพีคนแรกเคยเจอมา

8 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ1/9/52 19:59

    ปฏิทินเหตุการณ์สำคัญ

    ///ผ่านงบแล้ว หลายฝ่ายคงอยากให้ยุบสภาเต็มทีเพื่อคลายความอึดอัดของประเทศ แต่อภิสิทธิ์คงอยากยืดเวลาจนถึงที่สุดเพราะอยากยืดในงานใหญ่ที่สุดในชีวิต ประชุมสุดยอดอาเซียน 23-25 ต.ค.


    ขอนอกเรื่องหน่อยนะครับ คุณทหารเรือรบ

    ถ้านายกฯยุบสภาตอนนี้เลย ยังไงซะนายกฯก็ยังได้ยืดในงานใหญ่นี้อยู่ดีนะครับ นอกเสียจากว่าจะโดนปฏิวัติ

    คุณคงบวกลบคูณหารเรื่องระยะเวลาในการเลือกตั้งใหม่ได้นะครับ รวมถึงเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย

    อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมว่านายกฯคงจะมีงานที่ยิ่งใหญ่กว่านี้รออยู่อีกในอนาคตครับ หากว่ายังมีต้นทุนทางการเมืองสูงอยู่อย่างนี้

    ตอบลบ
  2. การเป็นนายกจริง กับนายกรักษาการณ์ นั้นความยืดมันต่างกันครับ ไม่เกี่ยวกับการว่าจะได้จัดหรือไม่ได้จัด

    งานใหญ่ที่สุดในชีวิตของอภิสิทธิ์ในอนาคตข้างหน้านั้น ก็เป็นเรื่องของวันหน้าอีกยาวไกล แกอาจจะเจริญกว่านี้หรือตกต่ำกว่านี้ก็แล้วแต่สถานการณ์ อย่างไรก็ตาม หากแกได้เป็นประธานงานสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ก็ถือว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดในชีวิตของเเกเวลานี้ ผมเขียนผิดหรือครับ

    ตอบลบ
  3. สวัสดีครับ คุณเรือรบ

    อยากให้ยุบสภาเหมือนกัน เผื่อว่า รัฐบาลชุดใหม่ อาจมีคนเก่งๆมาแก้ปัญหาของประเทศชาติได้

    เบื่อประชาธิปัตย์แย่แล้วครับ

    คุณเรือรบสบายดีนะครับ ผมเพิ่งกลับจากพักร้อน เอารูปมาฝากครับ 55 รูป

    http://www.oknation.net/blog/chedtha/2009/09/02/entry-1

    ตอบลบ
  4. ไม่ระบุชื่อ3/9/52 08:53

    คือว่า อย่างนี้ครับ แม้ว่าการเมืองญี่ปุ่นจะไร้เสถียรภาพอย่างไร เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ตลอดจนมาตรฐานการครองชีพของพวกเขาก็ยังอยู่ในระดับสูงสุดแบบเหยียบบ่าฝรั่งได้เลยครับ
    และเมื่อเปรียบเทียบการเมืองของประเทศสารขัณฑ์แล้ว การเลือกตั้งทุก ๆ ครั้งของเขาก็ไม่มีการซื้อเสียง การสรรหานายกของเขาก็ไม่ต้องขอให้คนอาวุโสเป่ากระหม่อม และกองทหารของญั่ปุ่นก็ไม่เคยมาตบเท้าออกความเห็นอะไรให้วุ่นวาย
    และแน่นอนครับ หลังเลือกตั้ง พวกเขาไม่มีการก่อม็อบ ยึดทำเนียบ ยึดสนามบินเพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลลาออก หรือถ้ามีม็อบไหนบังอาจทำรุนแรง คงได้โดนจัดการตามกฎหมายแน่นอนครับ
    ที่ผมเปรียบเทียบนี่ คิดว่าอย่างไรเสีย การเมืองญี่ปุ่นคงยังห่างไกลจากการเมืองของประเทศสารขัณฑ์หลายขุมเลยละครับ

    ติ่ง

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ3/9/52 19:01

    การเมืองญี่ปุ่นก็น้ำเน่าพอ ๆ กับไทย แต่โกงน้อยกว่า หน้าบ้างกว่า และไม่อ้างคุณธรรมปัญญาอ่อนครับ

    ตอบลบ
  6. สบายดีครับคุญเชษฐา ทำไมผมกดเข้าไปดูที่ http://www.oknation.net/blog/chedtha/2009/09/02/

    ยังไม่ได้เขียนบล็อกล่ะครับ แต่เรื่องอื่น ๆ ยังเยี่ยมเหมือนเคย รูปก็มาก นี่ถ้าตีพิมพ์เป็นหนังสือนำเที่ยวแบบเจาะลึก น่าจะมีแฟน ๆ มากเชียวครับ

    น้องติ่ง ผู้เคยแบกเป้ท่องญี่ปุ่นมาแล้ว เห็นจริงในประเทศนี้ เช่นเดียวกับท่านสุดท้ายที่ให้ความเห็นครับ

    ตอบลบ
  7. http://www.oknation.net/blog/chedtha/2009/09/02/entry-1

    คุณเรือรบ คลิกที่ชื่อเชษฐา ข้างบนนี้สิครับ จะลิ้งค์เข้าไปโดยตรงที่เอ็นทรี่นี้เลย
    เป็นภาพเกาะไมเนา เยอรมนี สวยมากครับ

    ตอบลบ
  8. หรืออาจเป็นบางช่วงที่เซิฟเว่อร์ของโอเคเนชั่น กำลังขัดข้องก็ได้ครับ
    รออีกสักพักแล้วค่อยคลิกเข้าไปดูนะครับ

    http://www.oknation.net/blog/chedtha/2009/09/02/entry-1

    ตอบลบ