วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การชุมนุม 17 ตุลา

การนัดชุมนุมขับไล่ครั้งใหญ่ของเสื้อแดงกลุ่ม”เอาเจ้า”ที่นำโดยวีระ มุสิกพงษ์ ในวันที่ 17 ต.ค. เป็นยุทธการที่ซ้ำซาก ล้าสมัย และไม่จำเป็น ในการปฏิบัติ ชัยชนะที่ต้องการนั้นยากที่จะมาด้วยวิธีการนี้ การปรับแผนใหม่และการรอจังหวะ น่าจะเป็นหนทางที่เหมาะสมกว่า

หลังจากการชุมนุมเสื้อแดงถึงจุดพีกสุดเมื่อ 8 เม.ย. แล้วไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น การชุมนุมกลางถนนก็อยู่ในช่วงขาลง ในวันถัดมามวลชนกว่าครึ่งไม่กลับมา เพราะตระหนักว่ารัฐบาลไม่ลาออกด้วยวิธีการนี้แน่ ๆ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาไม่ได้รับการหนุนสู้ โดยนายวีระให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย หากแต่นั่นคือการแพ้บลั๊ฟทางทหาร และมวลชนกลางถนนก็ไม่เพียงแค่หายไป แต่แตกแยกสายทางความคิดอย่างเป็นรูปธรรม

ในความเป็นจริงเสื้อแดงไม่ได้แพ้ ทั้งน่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นตามการรับรู้สภาพการณ์บ้านเมืองที่รัฐบาลบริหารอยู่นี้ และยังมีการจัดระบบกระจายไปทั่วทุกแห่งมากขึ้น แต่ก็ยืนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงมาขึ้นเช่นกัน ก็จริงที่พวกเขาต้องการล้มรัฐบาล ขับไล่อำมาตย์ แต่ก็รู้ด้วยว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้มาจากการแสดงพลังแล้วแสดงพลังอีกแบบสองสามวันกลับ สถานการณ์เป็นเช่นเดิม แต่เงินในกะเป๋าพวกเขาร่อยหรอไปกับค่ารถ ค่ากินอยู่ เสียเวลาและงานการอาชีพ ครั้นจะให้แตกหักเห็นผลทันที คนที่มีสติก็จะยั้งคิดไม่พาตัวเข้าไปเสี่ยง ในเมื่อยังไม่มีความจำเป็นต้องทำเช่นนั้น

การชุมนุมของนายวีระ มีผลทางจิตวิทยาต่อต่างประเทศในการแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ไม่ยอมรับรัฐบาลชุดนี้ นั่นเป็นปัจจัยที่กระทบต่อรัฐบาลก็จริง แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กำหนดว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไป ไม่ต่างจากการที่ฝ่ายพันธมิตรยกทัพยึดจุดศูนย์ดุลของกรุงเทพเมื่อปีกลาย ทำขนาดนั้นยังไม่ชนะ สถานการณ์ที่พลิกผันได้นั้นขึ้นอยู่กับตัวเล่นไม่กี่คน และในตอนนี้ตัวเล่นเหล่านั้นกำลังมองเลยข้ามช็อทเสื้อแดงชุมนุมไปแล้ว

การเมืองที่กลายเป็นสามก๊ก ทำให้เสื้อแดงไม่จำเป็นต้องชนกับเสื้อเหลืองนอกสภา เพราะรัฐบาลก็มีศึกหนักกับฝ่ายอื่นอยู่แล้ว หากตกลงผลประโยชน์ไม่ลงตัว สร้างสภาพเศรษฐกิจสังคมให้ดีขึ้นไม่ได้ หรือมีเรื่องอื้อฉาวมากขึ้นจนกลุ่มที่หนุนหลังรับไม่ไหว การเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้น เร็วหรือช้าเท่านั้น เวลานี้เสื้อแดงส่วนใหญ่กำลังเตรียมความพร้อมรับการเลือกตั้งอย่างมีระบบ มีองค์ความรู้ และด้วยสันติ จึงน่าจะเป็นการเหมาะที่พื้นถนนน่าจะตกเป็นของกลุ่มผู้เดือดร้อนทางการเกษตรเข้ามาเรียกร้องสิ่งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนของพวกเขาเสียมากกว่า

(บทความนี้ดัดแปลงเปลี่ยนแค่วันเวลาจาก "การชุมนุม 30 สิงหา ตีพิมพ์ในคมชัดลึก ก่อนวันชุมนุมที่ยกเลิกไปคราวนั้น)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น