วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2552

หรือต้องรอรุ่นต่อไปจึงสมานฉันท์

อ่อนใจครับกับสถานการณ์ความแตกแยกของบ้านเมืองนี้ เพราะมันถึงจุดที่คนหลายกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์กันยอมให้กันไม่ได้เลย พวกเขายอมจมน้ำตายร่วมกับศัตรูไปพร้อมกับโศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังร่ายระบำครอบกบาลอยู่นี้เสียดีกว่าจะปล่อยให้ได้ชื่อว่ายอมศิโรราบให้กับผู้มีความเห็นต่าง หรือว่าความเกลียดชังแบบเข้ากระดูกนี้จะไม่มีทางแก้จริง ๆ ต้องรอเวลาให้คนรุ่นต่อไปที่กระบวนทัศน์เป็นอีกแบบหนึ่งไปเลยเข้ามาเป็นผู้แก้


ปัญหาความแตกแยกนี้เป็นปฏิกิริยาสัมพันธ์กับความเสื่อมทรามของระบบ ตราบใดที่เศรษฐกิจสังคมยังดี เรื่องพวกนี้ก็พอจะซุก ๆ ไว้ได้ แต่หากถึงยุคนี้สภาพการณ์มันแย่จริง ๆ ปัญหาก็ปะทุออกมา โทษกันไปว่าฝ่ายของแกนั่นแหละเลว ขายชาติ คอรัปชั่นและอีกร้อยแปด และจะไม่มีวันยอมรับศัตรูเลย เพราะถ้ายอมรับก็เกรงว่าสถานการณ์มันจะแย่ลงไปอีก ต้องเป็นฝ่ายฉันเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้


นึกถึงตัวอย่างสองประเทศที่ผู้คนเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมกันไปแล้ว ด้วยการผ่านประสบการณ์กาลเวลา นั่นคือเวียดนามกับรัสเซีย ประเทศแรกนั้นเคยรบกันเองเป็นสงครามระดับโลกมาแล้วเมื่อสี่สิบปีก่อน คอมมิวนิสต์ฝ่ายเหนือชนะประชาธิปไตยฝ่ายใต้อย่างเด็ดขาดในปี 2518 คนฝ่ายใต้ตายกันเป็นรุ่น พวกที่อพยพไปอยู่อเมริกาก็เป็นฝ่ายใต้ทั้งนั้น คอมมิวนิสต์เวียดนามก็มะงุ่มมะหงาปกครองกันอย่างจน ๆ ไป เพราะชาวญวนในอเมริกาคอยล็อบบี้ฝรั่งให้กดดันคว่ำบาตรเวียดนามตลอด

เคยมีข่าวว่าญวนคนหนึ่งที่เดินทางไปอเมริการอบหลัง ๆ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่ แต่หมอนี่ชอบระบอบคอมมิวนิสต์ ถึงกับเอารูปโฮจิมินท์มาติดร้านขายของ ผลคือชุมชนชาวญวนในลอสแองเจลิสประท้วงอย่างหนัก แต่ในวันนี้ที่ทุกอย่างในเวียดนามเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าญวนคนไหนก็แสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยความรักชาติ พวกที่เคยทะเลาะเบาะแว้งกันรุ่นโน้นเก็บเข้ากรุหมด


รัสเซียยุคปี 90 ที่โซเวียตล่มสลายก็แตกแยกกันขนาดหนัก ระหว่างพวกนิยมคอมมิวนิสต์ที่เห็นว่าทุนนิยมกำลังจะมาเข้าครอบประเทศกับพวกหัวสมัยใหม่ที่เห็นว่าพวกฝ่ายซ้ายคือผู้ฉุดลากทำลายชาติตัวจริง ความรู้สึกแบบนี้มีมาจนถึงช่วงสิ้นยุคแรกของวลาดิเมียร์ ปูติน แต่วันนี้ที่เศรษฐกิจรัสเซียดีขึ้น ขณะที่ภาพถูกกลั่นแกล้งจากชาติตะวันตกชัดเจนขึ้น ชาวรัสเซียที่ทะเลาะกันนั้นหายไปอยู่ใต้พรมหมด ไปที่ไหนก็เจอแต่คนรักชาติ ประเทศกลับมามีรอยยิ้มอีกครั้ง

สองกรณีนี้ต่างใช้เวลาไปกรณีละไม่น้อย หรือคนไทยอาจจะต้องเป็นแบบนั้น

คมชัดลึก (ไม่ใช่คมชักลุก) 22 มี.ค.52

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ12/10/52 18:24

    เคยมีข่าวว่าญวนคนหนึ่งที่เดินทางไปอเมริการอบหลัง ๆ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่ แต่หมอนี่ชอบระบอบคอมมิวนิสต์ ถึงกับเอารูปโฮจิมินท์มาติด

    +++ข้อนี้เห็นต่างได้ไหมครับ ตอนสมัยเด็กๆ คนไทยแถวบ้านชอบกล่าวหาว่าคนญวนที่อยู่รอบๆ บ้านผมคนไหนเอารูป โอจิมินท์มาติดหาว่าเป็นคอมฯ ส่วนตัวรับฟังมาตั้งแต่ประถมแต่ไม่เคยปรักใจเชื่อเลยครับ เคยไปยืนดูรูปเขาใกล้ๆ เห็นแววตาแห่งความเมตตาและรอยยิ้มมาให้เสมอ คิดตลอดว่าคนๆ นี้เหรอที่เป็นคอมฯ อย่างที่ใครหลายๆ คนกล่าวหา สักวันจะหาคำตอบให้ได้ว่าคนนี้เป็นคอมจริงไหม ...จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้ดูสารคดีช่อง tpbs เมื่อก่อนเป็น itv แล้วมันก็ปรากฎเป็นอย่างที่ใจผมคิดเสมอครับว่าเขาไม่ได้เป็นคอมฯ จริงๆ แต่เขาเรียกร้องประชาธิปไตย แต่คนที่ไม่เห็นด้วยใส่ร้ายว่าเขาเป็นคอมฯ เขาตายที่เมืองไทยบ้านไม้เก่าๆ หลังหนึ่ง

    พี่เรือว่าอย่างไรครับผม...

    จุดลา ครับ...

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ12/10/52 18:27

    คมชัดลึก (ไม่ใช่คมชักลุก) 22 มี.ค.52


    อะฮ่า แล้วผ้าแล้ว เอ๊ย! แก้ไขคำผิดแหล๋ว 555555555


    จุดลา ... ครับผม เหอๆ ไปเกาหลีอย่าลืมของฝากเด้ออ้าย(รูปภาพคับรูปภาพ เอาแต่รูปวิวนะคร๊าบ รูปคนไม่ต้อง 555555555555 )

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ14/10/52 19:06

    แดงแท้ไม่มีวันยอมสมานฉันท์กับเหลืองถ่อย

    ตอบลบ
  4. คุณจุดลาครับ

    บ้านญวน ใกล้โรงเรียนผมนั้นมีแต่ความเป็นไทย ยกเว้นการสวดศพเวลาตาย คนแก่จะสวดแบบญวน ฟังไม่ออก ยุคโน้น ประเทศไทยไม่ได้ห้ามการเรียนรู้หรือมีรูป โฮจิมินทร์ เชกูวาร่า หรือแม้แต่เหมาเจ๋อตุง แต่ก็ไม่เคยเห็นใครบูชารูปหรือตำราเหล่านี้ ยกเว้นแต่ในมหาลัย ซึ่งหัวนักศึกษาเอียงไปทางสังคมนิยม หวังแต่จะเปลี่ยนแปลงการปกครอง คนส่วนใหญ่กลัวและไม่เอาด้วย เพราะเห็นเพื่อนบ้านเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์กันหมด จึงนำมาซึ่งการแตกแยกครั้งใหญ่ของชาติครับ

    ตอบลบ